สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มาคุยกันเรื่องการฝังศพกันบ้างครับ หลายท่านคงเคยเห็นสุสานที่ใช้ฝังศพตามประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีน บางสถานที่เป็นสุสานเอกชน ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ เนื่องจากได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และห่างไกลจากชุมชน แต่บางสถานที่ฝังในที่ดินของตัวเอง ซึ่งอยู่ในเขตชุมชน หรือมีบ้านเรือนของผู้อื่นอยู่ใกล้เคียงกัน ก็อาจจะมีปัญหาตามมาได้
การฝังศพ แม้จะฝังในที่ดินของตัวเองก็ตาม แต่ก็จะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วย หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท พระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 10 และ มาตรา 25 นอกจากนี้ หากการฝังศพไปกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลอื่น อาจจะถูกฟ้องให้รื้อถอนสุสานได้ครับ
เคยมีคดีตัวอย่างครับ จำเลยฝังศพของสามีไว้ในที่ดินของตัวเอง โดยได้ยื่นคำร้องขออนุญาตปลูกสร้างอาคารเก๋งจีนคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง แต่การฝังศพนั้น ห่างจากตัวบ้านของโจทก์ทั้งสอง เพียง 10 เมตร ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของโจทก์ทั้งสองและบุตรของโจทก์ทั้งสองเป็นอย่างมาก และยังสร้างความหวาดกลัวให้แก่โจทก์ทั้งสองและบุตรของโจทก์ทั้งสอง จนไม่กล้าทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเวลากลางคืน อีกทั้ง ผู้ตายก็ไม่ใช่ญาติกัน ย่อมก่อให้เกิดความหวาดกลัวในเรื่องภูตผีวิญญาณ ศาลจึงมีคำสั่งพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องของโจทก์ และเคลื่อนย้ายศพที่ฝังออกไป
อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2538
ตามสภาพของหลุมฝังศพที่มีศพฝังอยู่ ย่อมก่อให้เกิดความหวาดกลัวในเรื่องภูตผีวิญญาณ และเป็นที่รังเกียจแก่ผู้ที่มิใช่ญาติผู้ตาย ซึ่งอยู่บ้านใกล้หลุมฝังศพ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างหลุมฝังศพในที่ดินของตนเอง และนำศพฝังไว้ห่างบ้านโจทก์ทั้งสองประมาณ 10 เมตร ย่อมจะมากพอที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองจำต้องรับรู้ว่าตนอยู่ใกล้หลุมฝังศพ และต้องได้รับความกดดันทางจิตใจจากการมีพิธีการเกี่ยวกับศพ การที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายหลังจากฝังศพแล้ว มีผลเพียงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ตกเป็นผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 อีกต่อไปเท่านั้น หาได้มีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการใดๆ ให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่
...
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 1337 บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการ เพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป ทั้งนี้ ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ แม้จำเลยได้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารเก๋งจีนคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง และได้รับอนุญาต เก็บ หรือฝังศพในสถานที่อื่นนอกจากในสุสานและฌาปนสถานสาธารณะ หรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน ถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม แต่หากการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ และตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนย่อมมีสิทธิ์ฟ้องให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้ครับ
สำหรับใครที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK