มาว่ากันต่อเรื่องปาล์มน้ำมัน มาเลเซียทำกันยังไง ช่วยเหลือเกษตรกรแบบไหน...ทั้งที่คนปลูกขายได้ราคาต่ำกว่าไทย เฉลี่ย กก.ละ 50 สต. แต่เกษตรกรอยู่ได้ ไม่มีปัญหาเหมือนบ้านเรา

อย่างที่ได้บอกไปเมื่อคราวที่แล้ว บ้านเราปลูกปาล์มขายเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานน้ำมันพืช ได้มูลค่าเพิ่มขึ้นมา 160%...ส่วนมาเลย์ นอกจากขายเป็นวัตถุดิบทำเป็นน้ำมันพืชแล้ว ยังนำเมล็ดในไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมี เลยได้มูลค่าเพิ่มขึ้นมาเป็น 435%

แปรรูปเป็นสินค้าราคาแพง เลยได้มูลค่าเพิ่มสูงกว่าไทยเกือบ 3 เท่าตัว

ความแตกต่างของมูลค่าเพิ่มที่ได้มานี่แหละ ถูกนำมาใช้อุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรให้มีต้นทุนการผลิตต่ำลง...ถึงเกษตรกรมาเลย์จะได้ราคาต่ำกว่าไทย แต่ต้นทุนต่ำกว่ากันเยอะ เลยอยู่กันได้ไม่มีปัญหา

และแน่นอนว่าวิธีคิดและทำของเขา ไม่เหมือนที่ผู้บริหารประเทศเราคิดทำ...เพราะเขามองยาวไกล ได้รอบด้านครบวงจรมากกว่าเรา

เอาตลาดบนเป็นตัวนำ สร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร อุดหนุนส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตอย่างเป็นระบบ ภายใต้การควบคุมที่มีการวางแผนอย่างชัดเจน

ไม่ใช่คิดอะไรไม่ออก หาเงินไม่ได้...เบิกงบกลางมาใช้จ่าย

เงินที่มาเลย์นำมาใช้ทำงานแบบครบวงจร คนไทยก็รู้จัก คล้ายกับเงินเซส (CEES) ที่เราเก็บจากผู้ส่งออกยางพารา กก.ละ 2 บาทนั่นแหละ

แต่เงินเซสปาล์มน้ำมัน มาเลย์จะเรียกเก็บในอัตราไม่เกิน 1% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าส่งออกที่ทำมาจากปาล์มน้ำมัน

เฉพาะผลิตภัณฑ์โอเลโอเคมี ปีละ 700,000 ล้านบาท เก็บแค่ 0.75% ปาเข้าไปกว่า 5,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว...แต่ปีหนึ่งๆ

มาเลย์มีเงินไหลเข้ามาพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบเป็นเงินมากถึง 4,000 ล้านริงกิต หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท

...

เงินส่วนหนึ่งถูกนำไปส่งเสริมเกษตรกรลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต...เขาอุดหนุนกันแบบไหน เหมือนเราหรือไม่ ติดตามในตอนหน้า.

สะ–เล–เต