ลูกหลานเกษตรกรที่ดูกฎหมายออกบอกกฎหมายได้ อ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช (ฉบับที่...) พ.ศ. ...แล้วก็ถึงน้ำตาซึมโดยไม่รู้ตัว
การต่อสู้ของเกษตรกรกับนายทุนชาติ + นายทุนข้ามชาติ + ชนชั้นกลางขึ้นไป เข้มข้นมากในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มือไม้ของนายทุนและคนชั้นกลางขึ้นไปพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อประโยชน์ของบริษัทพันธุ์พืชของนายทุนชาติและข้ามชาติ
คนชั้นกลางขึ้นไป + นายทุนชาติ + บรรษัทข้ามชาติ ต้องการให้เรายอมรับกฎหมายผูกขาดพันธุ์พืชตามระบบ UPOV1991 มีการล็อบบี้ผู้มีอำนาจและพยายามยัดลงไปในการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ และความตกลงเอฟทีเออาเซียน-ยุโรป
ที่ผ่านมา เรื่องนี้ได้รับการคัดค้านจากคนที่เป็นห่วงเกษตรกร คนทั่วไปที่ไม่ได้ตามการต่อสู้ครั้งนี้อาจจะไม่ทราบว่า นี่คือการต่อสู้อย่างรุนแรงเข้มข้นระหว่างฝ่าย ก. ที่ต้องการปกป้องสิทธิในพันธุ์พืชไว้ให้เกษตรกร กับฝ่าย ข. ที่ต้องการ “ตัดสิทธิ” ของเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ
และใช้กฎหมายเพื่อขโมยสิทธิจากเกษตรกรไปให้นายทุน ไม่ให้เกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อได้อีก
มาตรา 33 (4) ในกฎหมายเดิม (พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542) เกษตรกรยังมีสิทธิเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ ทว่าวันดีคืนดีก็มีการยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ทั้งฉบับ
จากนั้น ก็ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช (ฉบับที่...) พ.ศ. ...กันขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดให้สิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นภายใน 20 ตุลาคม 2560
ไอ้คนที่คิด “เงื่อนไขเวลา” นี่เก่งและเลวจริงๆ
หากร่างกฎหมายผ่าน เกษตรกรไทยที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วก็จะถูกมัดมือมัดเท้า ประโยชน์ก็จะตกแก่บริษัทพันธุ์พืช บริษัทพันธุ์พืชสามารถผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
...
ใครจะปลูกพืชใหม่ต้องไปซื้อพันธุ์จากบริษัทจำหน่ายพันธุ์เท่านั้น เกษตรกรคนใดไม่ปฏิบัติตามนี้อาจจะถูกฟ้องถึงติดคุก ต่อไปในอนาคต พวกบริษัทใหญ่ที่มีเงินจ้างนักปรับปรุงพันธุ์เก่งๆก็จะสามารถตัดการแสดงที่มาของสารพันธุกรรมออก จากนั้น ก็เอาไปขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ + แก้คำนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป
นักปรับปรุงพันธุ์ในคอกนายทุนก็จะไปเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองมาปรับปรุงพันธุ์ ทำกันเพียงเท่านี้ก็สามารถผูกขาดพันธุ์พืชที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ได้นานถึง 20-25 ปี ในห้วงช่วงเวลานี้ เกษตรกรไม่มีสิทธิเอาพันธุ์ใหม่นี้ไปปลูก
ไม่ใช่เฉพาะส่วนขยายพันธุ์เท่านั้น บริษัทพันธุ์พืชของนายทุนยังได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายไปจนถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ด้วย
คนที่ไม่ชำนาญในการอ่านและตีความกฎหมาย อ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ลวกๆ แล้วดูเหมือนว่าร่างกฎหมายใหม่นี้จะดี...“เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง”
ทว่า ผู้อ่านท่านผู้เจริญลองอ่านเงื่อนไขที่มีการเขียนซ่อนไว้ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ซีครับ...“เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมด หรือบางส่วนของเกษตรกรได้”
เดิม พวกที่มีบทบาทว่าเกษตรกรสามารถเก็บรักษาพันธุ์พืชใดเพื่อปลูกต่อได้หรือไม่นั้น คือคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน และจะต้องมีเกษตรกรที่มาจากการเสนอชื่อและคัดเลือกกันเองอย่างน้อย 6 คน
ทว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ให้ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นและกรรมการที่เป็นตัวแทนเกษตรกรมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด
หากนายทุนซื้อรัฐมนตรีและให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการพวกตัวเองเมื่อใด หายนภัยมาเยือนเกษตรกรไทยเมื่อนั้น
อนิจจาประเทศไทย นายทุน ว่าน ซื่อ จวี้ เป้ย จวื่อ เชี่ยน ตง เฟิง มีพร้อมทุกสิ่งอย่าง ขาดเพียงลมตะวันออก
ขาดเพียงเงื่อนไขสุดท้ายคือกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่
บัดนี้ ลมตะวันออกเมตตาพัดมาให้นายทุนใหญ่ฮุบสิทธิของเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อแล้ว.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com