สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก กลับมาพบกันอีกครั้งนะคะ กับคุณครูลิลลี่ และครั้งนี้ก็มาตามสัญญาที่บอกไว้ตั้งแต่ไทยรัฐออนไลน์ครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ว่านับถอยหลังจากนี้ไปก็เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 1 เดือนแล้วที่จะถึงงานพระราชพิธีสำคัญที่บีบหัวใจของคนไทยทั่วทั้งประเทศและอย่างที่บอกไว้แล้วว่าในฐานะคุณครูภาษาไทย และเป็นพสกนิกรคนหนึ่งจึงขอใช้เนื้อที่ในไทยรัฐออนไลน์ นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวไทยจากมุมมองของคุณครูภาษาไทย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้นำความรู้ภาษาไทยในเรื่องของการอ่านพระปรมาภิไธยมาขยายความให้เข้าใจกันอย่างถ่องแท้ไปแล้ว ไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ก็มีเรื่องของการแสดงความอาลัยอย่างไรให้ถูกต้องมาฝากกันค่ะ ครั้งนี้คุณครูลิลลี่รวบรวมเอาความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ มาสรุปเป็นแนวทางการแสดงความอาลัยในแบบต่าง ๆ ได้ 7 แบบด้วยกัน โดยทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเองก็ได้จัดทำตัวอย่างการใช้ถ้อยคำเพื่อแสดงความอาลัยถวาย แด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ไว้ถึง 7 แบบ ได้แก่

แบบที่ 1 สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า..........

แบบที่ 2 เสด็จสู่สวรรคาลัย ผองพสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์ ข้าพระพุทธเจ้า……….

แบบที่ 3 ปวงพสกนิกรชาวไทยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตราบนิจนิรันดร์ ข้าพระพุทธเจ้า……….

แบบที่ 4 ปวงประชาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น อันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า……….

แบบที่ 5 เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย พระมหากรุณาธิคุณจารึกในใจไทยชั่วกาล ข้าพระพุทธเจ้า……….

...

แบบที่ 6 สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ น้อมศิระกราน กราบแทบพระยุคลบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า……….

แบบที่ 7 พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า..........

คุณผู้อ่านลองสังเกตนะคะ หลังคำว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” จะต้องระบุชื่อบุคคล คณะบุคคล และหน่วยงาน โดยในกรณีของบุคคลต้องมีคำนำหน้านาม นาย นาง นางสาว ไม่สามารถใช้ชื่อนามสกุลลอย ๆ ขึ้นมาได้เลยทันที เช่นเดียวกันกับ คณะบุคคล ก็ต้องใช้คณะบุคคลนำหน้าก่อน จะระบุชื่อหน่วยงาน หรือ บริษัทเลยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะบริษัท หรือนิติบุคคล ไม่มีชีวิตพูดไม่ได้ ดังนั้นต้องเป็นคณะผู้บริหาร พนักงาน เป็นต้น ลองไปดูตัวอย่างการใช้นะคะ อาทิ ข้าพระพุทธเจ้า นายกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือ ข้าพระพุทธเจ้าคณะครูและนักเรียน โรงเรียนวิทย์ศิลป์พินนาเคิล เป็นต้น มีข้อควรทราบและควรระวังนะคะ นั่นก็คือ ไม่ต้องมีคำลงท้ายว่า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ เพราะว่าคำนี้จะใช้ลงท้ายกับพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถที่ยังทรงพระชนม์ หรือใช้เมื่ออยู่เฉพาะพระพักตร์เท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้คุณครูลิลลี่ได้เคยนำไปอธิบายไว้ไปเมื่อไม่นาน ก็มีผู้สงสัยเข้ามาถามว่า คำว่า ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ไม่ใช่ศาสนาพุทธจะใช้คำนี้ได้ไหม หรือควรใช้คำใดเป็นสรรพนามแทนตัวเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้คุณครูลิลลี่คิดว่า คุณ ๆ ที่สงสัยคงงงเพราะมีคำว่า พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาพุทธ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำว่า ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าเปิดตามพจนานุกรม เป็นคำสรรพนาม ใช้แทนตัวผู้พูดกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินหรือกราบทูลเจ้านายชั้นสูง ถือเป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ใช้คำว่า ข้าพระพุทธเจ้า ได้เหมือนกันทุกคนค่ะ เข้าใจตามนี้นะคะ สวัสดีค่ะ
 

instagram : kru_lilly, facebook : ครูลิลลี่, Line: @krulilly