ระดมความคิด พัฒนาสื่อ  เพื่อประชาชน

ภายใต้ความร่วมมือขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นว่าปัจจุบันเกิดวิกฤติทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจอย่างรุนแรง  สังคมคาดหวังว่าสื่อมวลชนจะมีบทบาท ฝ่าวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะภารกิจที่สำคัญของสื่อคือการเป็นเวทีสาธารณะแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย รวมทั้งเป็นผู้กำหนดความหมาย และให้คุณค่าแก่เรื่องราวหรือความจริงทางสังคม  ด้วยภารกิจนี้การทำหน้าที่ของสื่อจึงต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม ความมีจรรยาบรรณวิชาชีพและมีคุณธรรม การสัมมนาครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ กลุ่ม new media ซึ่งถือเป็นสื่อกลุ่มใหม่ที่มีบทบาทอย่างสูงในสังคมไทยปัจจุบัน

เนื่องจากเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการบริโภคข่าวสารที่รวดเร็ว  ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และ ในโลกของอินเทอร์เน็ต ได้อย่างลงตัว

มีสื่อมวลชนที่ผลิตข่าวเสนอทางเว็บไซต์ และ ส่งข่าวผ่านระบบsms ให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนา เช่นจาก ไทยรัฐ มติชน เดลีนิวส์ และยังมีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ให้ความสนใจเข้าร่วมระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนทัศนะ และมุมมองเรื่องจุดเด่น จุดด้อย ข้อจำกัดในการนำเสนอของสื่อกลุ่ม new media รวมถึงค้นหาวิธีบูรณาการสื่อในกลุ่มของ new media ให้มีจริยธรรมในการนำเสนอข่าวสารออกสู่ประชาชน

สำหรับเรื่องแรกคือ  คิดเห็นอย่างไรกับการปฎิรูปสื่อในกลุ่ม new media และกรอบความหมายของคำว่าจริยธรรมของสื่อ ควรจะมีคำจำกัดความมากน้อยเพียงใด ?

ในหัวข้อนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า  กรอบการทำงานของสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นแขนงใด สิ่งสำคัญประการแรก ที่ต้องยึดถือและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกคือประชาชน เพราะหากสื่อละเลยการนำเสนอข้อเท็จจริงกับประชาชน ที่สุดสื่อมวลชนก็จะไม่ได้ความความเชื่อถือจากประชาชนอีกต่อไป เพราะฉะนั้นสื่อที่ดีจึงต้องมีการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและรอบด้านต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

...

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาต้องยอมว่าในกลุ่มสื่อ new media ซึ่งถือเป็นน้องใหม่ของวงการนั้น  มีกลุ่มคนที่แอบแฝงเข้ามาหาผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจค่อนข้างมาก  เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถหาประโยชน์จากข่าวในเว็บไซต์ของสื่อมวลชนหลักไปใช้ในเชิงธุรกิจ  โดยเฉพาะกับธุรกิจการส่งข่าว sms ได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้ในวงการ new media ริเริ่มตั้งชมรมวิชาชีพผู้ผลิตสื่อออนไลน์ขึ้น เพื่อสร้างกรอบจริยธรรมการทำงานในการนำเสนอข่าวให้เดินหน้าและไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน  รวมทั้งยังเป็นการสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มบุคคลใดเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากเนื้อหาข่าวไปใช้ในเชิงของธุรกิจ

ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาต่างยอมรับว่า ได้รับผลกระทบจากการกระทำของกลุ่มคนลักษณะนี้ในหลายกรณี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความผิดพลาดในการนำเสนอ และได้รับการท้วงติงจากแหล่งข่าวหรือประชาชนที่ติดตามข่าวและได้มีการแก้ไขไปแล้วก็ตาม   แต่ปรากฎว่ากลุ่มที่แฝงตัวเข้ามาหาผลประโยชน์  ได้นำเสนอข่าวผิดพลาดในคราวแรกออกสู่ประชาชน  และไม่แก้ไข  ทำให้เกิดการฟ้องร้องกัน เพราะเข้าใจผิดว่าสื่อหลักที่เสนอข่าวไม่ได้แก้ไขข่าวที่ถูกต้องให้   ทั้งๆที่แก้ไขไปแล้ว  แต่คนที่นำข่าวไปใช้ต่อไม่ยอมแก้ไข

ดังนั้นชมรมผู้ผลิตสื่อออนไลน์จึงร่างจรรยาบรรณสร้างกรอบการทำงานกันเองในกลุ่ม หากมีผู้ใดละเมิดจรรยาบรรณ ก็จะใช้มาตรการโซเชียลแซงชั่น หรือ บทลงโทษของโลกออนไลน์  เชื่อว่ามาตรการนี้  จะสามารถสกัดกั้นการละเมิดได้  ขณะเดียวกันทางตัวแทนเว็บไซต์ไทยรัฐได้เสนอประเด็นเรื่องการยุติการใช้กฎหมายฟ้องหมิ่นประมาทมาใช้กับสื่อ แต่ให้นำกฎหมายจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมาใช้แทน ดังเช่นที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้เคยนำเสนอกับนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งที่ได้เดินทางมารับฟังข้อเสนอปฏิรูปสื่อที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ในวงสัมมนาได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นความยากลำบากของสื่อมวลชนในช่วงที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา อาทิ ข้อครหาจากประชาชนว่าเป็นสื่อเลือกข้าง  ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามจากประชาชนว่า สื่อมวลชนขัดแย้งกันเองหรือไม่  ในวงสนทนาให้ความเห็นว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะประชาชนยึดติดว่าสื่อที่นำเสนอข่าวตรงกันข้ามกับความคิดของตนเองคือฝ่ายตรงข้าม  วิธีการแก้ปัญหาควรจะรักษาความสมดุลของข้อมูลข่าวสาร และไม่เสนอข่าวยั่วยุจนนำไปสู่ความขัดแย้ง และหลีกเลี่ยงการเปิดให้แสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ข่าวของตัวเอง โดยเฉพาะในข่าวที่เล็งเห็นว่าอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง หรือ ควรลบความคิดเห็นที่เป็นการยั่วยุออกไป นอกจากนี้ควรมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจเนื้อหาข่าวและการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ บนหน้าเว็บไซต์เพื่อป้องกันเรื่องที่เกิดขึ้น

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้น  ไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งในวงการสื่อมวลชนอย่างที่คนภายนอกมองแต่อย่างใด โดยเฉพาะในการทำงานภาคสนาม  สื่อมวลชนของแต่ละแห่งต่างร่วมกันทำหน้าที่ด้วยกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งมุมมองเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นเพราะการสะท้อนมุมมองความคิดเห็นส่วนตัวที่ผ่านออกมาทางคอลัมนิสต์ ของแต่ละสำนักมากกว่า จึงทำให้การรับรู้ในหมู่ประชาชนมองว่าสื่อแต่ละสำนักมีมุมมองที่แตกต่างกัน  ขัดแย้งกัน ในประเด็นทางการเมือง

นอกจากนี้วงสนทนา ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องความผิดพลาดในการนำเสนอข่าวของ new media ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือการนำเสนอข่าวที่ซ้ำกัน  ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ตั้งข้อสังเกตว่าส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อสื่อที่นำเสนอ  ในประเด็นนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมองกันว่า การแข่งขันกันเองในสื่อกลุ่ม new media มีสูงมาก เพราะหัวใจสำคัญที่สุดของการนำเสนอข่าวโดยเฉพาะข่าว sms คือความเร็วในการนำเสนอ เพราะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการรับข่าวสารนั้น  สามารถรับข่าวสารได้หลายทางกับเทคโนโลยียุคปัจจุบันที่สามารถค้นหาข่าวสารได้โดยง่าย  ดังนั้นหากนำเสนอข่าวช้ากว่าคู่แข่ง อาจทำให้กลุ่มเป้าหมายยึดติดอยู่กับการรับข่าวสารของคู่แข่งเพราะเห็นว่าสนองตอบต่อความต้องการได้เร็วกว่า

...

เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่มักจะมาควบคู่ไปกับความเร็ว   กลุ่ม new media จึงมีความพยายามคัดกรองข่าวสารก่อนที่จะนำเสนอออกไปให้มากที่สุด เช่นการใช้บรรณาธิการหรืออย่างน้อยที่สุดคือ หัวหน้าข่าวมาทำหน้าที่ในการคัดกรองข่าว  ตรวจเช็กข่าวสารที่ได้รับว่ามีความถูกต้องสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด แม้กระทั่งความพยายามในการอ้างชื่อแหล่งข่าวเข้าไปประกอบการนำเสนอ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น

ประเด็นปัญหาอีกข้อหนึ่งที่วงสนทนายอมรับว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นคือประสบการณ์ในการทำข่าวของบุคลากร new media มีค่อนข้างน้อย  เพราะสื่อกลุ่ม new media ถือเป็นน้องใหม่ของวงการ มีข้อจำกัดในการหาคนมาทำหน้าที่  จำเป็นต้องใช้คนรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือล้น  เพราะบุคลากรรุ่นเก่าจะชินกับการทำงานในสื่อหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์  จะไม่ถนัดกับการทำหน้าที่หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันแบบกลุ่ม new media ได้

ยกตัวอย่างคน 1 คนที่ประจำในสำนักข่าว ต้องทำหน้าที่มอนิเตอร์ข่าวทั้งวิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ ข่าวที่มาจาก sms คู่แข่ง  รวมทั้งยังต้องรีไรท์ข่าวเพื่อนำขึ้นเว็บไซต์ของตัวเอง จึงอาจทำให้ขาดความละเอียดรอบคอบ รวมถึงความรอบรู้ในประเด็นข่าว ตัวสะกดคำ รวมถึงตำแหน่งหน้าที่ของแหล่งข่าว  แต่เชื่อว่าเมื่อมีการจัดฝึกอบรมเป็นการภายในองค์กรรวมทั้งอาศัยความใส่ใจ  ขยันหาความรู้ใส่ตัวเอง และเปิดใจให้กว้างยอมรับความรู้จากผู้มีประสบการณ์มากกว่าที่เราไม่สามารถหาได้  น่าจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวไปได้

ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นการสัมมนา  ทุกคนตกลงร่วมกันว่าจะนำเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ไปใช้ในการสัมมนาครั้งต่อไป และจะนำเสนอต่อเวทีการปฏิรูปสื่อในเวทีใหญ่ต่อไปด้วย