ข้อมูลน่าสนใจจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถีย ระบุช่วงปี 2558 ต่อเนื่องปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น 102,240,981.88 ไร่ หรือร้อยละ 31.60 ของพื้นที่ประเทศ

มองภาพรวมสถานการณ์ป่าไม้ของไทย นับแต่ปี 2504 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ช่วงนั้นประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้นประมาณ 171 ล้านไร่ หรือคิดเป็น ร้อยละ 53.33 ของพื้นที่ประเทศ

แต่ช่วงปี 2504-2531 พื้นที่ป่าไม้ของไทยมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปลายปี 2531 ได้เกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ไหลมาพร้อมกับท่อนซุงจำนวนมาก กวาดเอาบ้านเรือนและประชาชน ที่ ต.กระทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ไปแบบนอนหลับอยู่ในบ้าน หนีไม่ทัน ไม่ทันได้ตั้งตัว ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินครั้งนั้น ทำให้คนไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้และจำนวนป่าไม้ที่ลดลง

จึงเป็นที่มาของการปิดสัมปทานป่าบกในปี 2532 แต่ถึงกระนั้น พื้นที่ป่าไม้ก็ยังคงลดลงต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อปี 2534 จู่ๆก็พบว่า ตัวเลขพื้นที่ป่าไม้กลับมีอัตราที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด

แต่เมื่อลองไล่เรียงดูแล้ว ตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ มิได้เกิดจากการที่เมืองไทยมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด หากแต่เกิดจากการ เปลี่ยนแปลงวิธีสำรวจพื้นที่ป่าแบบใหม่ ด้วยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมมาแปลผล

นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนสูตรการคำนวณจากของเดิมใช้แผนที่ในอัตราส่วน 1 : 250,000 ในการคำนวณ มาเป็นใช้อัตราส่วน 1 : 50,000 แทน วิธีการสำรวจแบบใหม่นี้ นอกจากจะทำให้เห็นพื้นที่ป่าได้ละเอียดยิ่งขึ้น ยังทำให้คำนวณได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นด้วย

ตัวเลขพื้นที่ป่าไม้ของไทยที่สามารถเปรียบเทียบกันได้จริง จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ปี 2516-2541 พื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงจาก 138,566,875 ไร่ เหลือ 81,076,250.00 ไร่ มีอัตราลดลงเท่ากับ 2,053,236.61 ไร่ ต่อปี

...

ช่วงที่สอง ปี 2543-2557 พื้นที่ป่าลดลงจาก 106,319,237.50 ไร่ เหลือ 102,120,417.98 ไร่ หรือมีอัตราลดลงประมาณ 299,915.68 ไร่ ต่อปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมิน พื้นที่ป่าไม้เป็นรายภาค ปัจจุบัน ภาคเหนือ ยังคงครองแชมป์ มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 64.48 ของพื้นที่ภาค

รองลงมา ภาคตะวันตก มีพื้นที่ป่าร้อยละ 59.09 ภาคใต้ ร้อยละ 23.99 ภาคตะวันออก ร้อยละ 21.77 ภาคกลาง ร้อยละ 21.06 และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 14.94 ของพื้นที่ภาค

ถ้าประเมินเป็นรายจังหวัดท็อปไฟว์ของประเทศ หรือ จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง เชียงใหม่ และ แพร่ ตามลำดับ

แต่เมื่อนำข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ของปี 2558 เทียบกับเมื่อปี 2557 พบว่า จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 5 อันดับแรก ได้แก่ สระบุรี 1.16% สุรินทร์ 1.12% ประจวบคีรีขันธ์ 0.48% ลพบุรี 0.47% และ สุพรรณบุรี 0.46%

ส่วนจังหวัดที่หลังจากแปลภาพถ่ายดาวเทียมแล้วไม่พบว่ามีป่าไม้เหลืออยู่เลย มี 4 จังหวัด คือ อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และ อ่างทอง

เทียบกับ กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. ก่อนหน้านี้เคยถูกระบุว่า ไม่มีพื้นที่ป่าหลงเหลือ เพราะมองไปทางไหนมีแต่ “ป่าคอนกรีต” เต็มไปหมด แต่ถือเป็นข่าวดี เพราะปัจจุบันหลังจากทำการแปลภาพถ่ายดาวเทียมแล้ว พบว่ากรุงเทพฯยังมีพื้นที่ป่าอยู่ ร้อยละ 0.03 หรือ ประมาณ 3,253 ไร่ บริเวณเขตบางขุนเทียน

หลังจากคนไทยได้รับบทเรียนโหด ถูกธรรมชาติลงโทษมากขึ้น ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักในคุณค่า และโหยหาพื้นที่ป่า อยากเห็นการอนุรักษ์ป่าไม้ พันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่า เพื่อคงไว้ซึ่งแหล่งต้นน้ำลำธารและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ รวมทั้งความสมดุลของระบบนิเวศ

รัฐบาลจึงเริ่มหาหนทางขยายพื้นที่ ป่าอนุรักษ์ เพิ่ม ซึ่งหมายถึง ต้องมีการนำเอาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กำหนดไว้ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าหายาก เพื่อการป้องกันภัยธรรมชาติอันเกิดจากน้ำท่วม และการพังทลายของดิน ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษา วิจัย นันทนาการของประชาชน และความมั่นคงของชาติ มาทำเป็นป่าอนุรักษ์

ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกว่า

“เวลานี้พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศมีอยู่ทั้งสิ้น 102.24 ล้านไร่ แบ่งภารกิจดูแลรับผิดชอบกันอยู่ 3 กรม คือ กรมอุทยานฯ เราดูแลรับผิดชอบประมาณ 73.2 ล้านไร่ ที่เหลืออยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ กับกรมทรัพยากรทางทะเลฯ” อธิบดีกรมอุทยานฯชี้ให้เห็นภาพ

เขาบอกว่า ตามนโยบายและเป้าหมายที่วางไว้ กรมอุทยานฯมีภารกิจต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี 2569 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯเพียง 22% ของพื้นที่ประเทศ

“พูดง่ายๆเราต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จากเดิมที่มีอยู่ 73.2 ล้านไร่ หรือประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ประเทศ ให้เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งเราได้รับมอบพื้นที่ป่ามาจากกรมป่าไม้แล้วบางส่วน จึงเหลืออีกประมาณ 2 ล้านไร่เศษ ที่ต้องดำเนินการ เพื่อขยายเป็นพื้นที่ป่าให้ครบ 25 เปอร์เซ็นต์”

แต่กระนั้นในทางปฏิบัติหรือสภาพความเป็นจริง ภารกิจดังกล่าว ดูจะไม่ใช่หมูในอวยอย่างที่คิด เพราะติดตรงปัญหาใหญ่ที่ชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ ซึ่งภาครัฐต้องการจะกันไว้เป็นเขตป่าอนุรักษ์เพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่นั้นกันมานานหลายชั่วอายุคน จึงทำให้เกิดการย้อนแย้งในใจ หรือไม่ยอมรับเป็นวงกว้าง

...

เพราะเมื่อการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีขึ้นภายหลังจากที่ชาวบ้านได้เข้าอยู่อาศัยมาก่อนแล้วเป็นเวลานาน ไม่ต่างกับการไปประกาศทับพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยของราษฎร...ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ขัดแย้งกันมาตลอด

โดยเฉพาะการนำเอาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมาทำเป็นป่าอนุรักษ์ โดยหลักแล้ว การจะประกาศให้พื้นที่ใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ มีข้อห้าม ว่าต้องไม่เป็นที่ดินของเอกชนที่มีสิทธิครอบครองอยู่แล้ว ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือเป็นที่ที่อยู่ในความครอบครองของรัฐ

แต่ในสภาพความเป็นจริง ชาวบ้านบางหมู่บ้านได้ทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและมีปัญหาพิพาทกับทางการว่า ตนเคยอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นโดยชอบ ก่อนที่จะประกาศว่าเขตนั้นเป็นเขตป่าสงวนฯ

ซึ่งในกรณีนี้เป็นปัญหาที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าความจริงเป็นเช่นไร ซึ่งถ้าเกิดจากความบกพร่องในช่วงการสำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถสำรวจได้ครบทุกพื้นที่ แล้วไปประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทับที่ของราษฎร จะต้องเพิกถอนเขตดังกล่าว ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ถ้าไม่เป็นความจริง ราษฎรที่กล่าวอ้างเช่นนั้นจะต้องอพยพออกจากพื้นที่ป่าสงวนฯ

งานนี้กรมอุทยานฯเองคงรู้ดีว่า นอกจากเป็นภารกิจที่ไม่หมู ยังต้องเร่งทำมวลชนสัมพันธ์อย่างหนัก เพื่อสร้างความรับรู้ให้ชาวบ้านรับทราบ และมีส่วนร่วมทำตามกฎหมาย

แถมดีไม่ดี ยังอาจต้องร่วมหาทางออกให้ผู้ที่ทำกินและอาศัยมาก่อน แล้วดึงมาเป็นแนวร่วมสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งช่วยกันดูแลป่า ภารกิจขยายพื้นที่ป่าจึงจะเป็นไปตามเป้า.