พื้นที่ป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติ 150 แห่งทั่วประเทศวันนี้มีอยู่ 44,698,837.26 ไร่...หากขีดวงเฉพาะพื้นที่ไม่มีสภาพป่าจะอยู่ที่ 3,532,661.97 ไร่ หรือราวๆ 7%...แบ่งเป็นก่อนปี 2545 อยู่ที่ 3,208,925.14 ไร่ และหลังปี 2545 จำนวน 323,736.83 ไร่ โดยในปี 2559 ได้ป่ากลับคืนมา 141,017.33 ไร่
เมื่อครั้ง ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นำคณะลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน แจกแจงว่า
การดำเนินงานเพิ่มพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ในปี 2559 ได้ป่ากลับคืนมา 140,000 ไร่ สำหรับปี 2560 เป้าหมายคือ 107,000 ไร่ ซึ่งทำไปได้แล้ว 60,000 ไร่...ยังขาดอีก 40,000 กว่าไร่
ดร.ทรงธรรม ย้ำว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจะเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั่วประเทศ ภายในปี 2569 โดยได้แก้ไขปัญหาตามนโยบายรัฐบาล ผ่านยุทธศาสตร์หลัก 7 ด้าน ได้แก่
1.การสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน 2.จัดระเบียบคนและพื้นที่ 3.ป้องกันและรักษา 4.ฟื้นฟูระบบนิเวศ 5.พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ 6.สร้างจิตสำนึกและถ่ายทอดองค์ความรู้ และ 7.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน…“หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม...อนุรักษ์ป่าต้นน้ำภาคเหนือและในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ ก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน...ชุมชนบนพื้นที่สูงให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ”
ที่สำคัญ...ช่วยให้ “ป่าต้นน้ำ” กลับมาสมบูรณ์ตามธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป
เราได้ทำโครงการ SMART NATIONAL PARK 4.0 เป็นระบบศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สามารถวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา วางแผนพัฒนาพื้นที่อุทยานให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า อย่างเหมาะสม ถูกต้องมากที่สุด
...
“แอพฯที่ว่านี้ถือว่าทันสมัยมาก...ครบตามความต้องการใช้งาน สามารถตรวจสอบข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ...เฝ้าระวังภัยคุกคามในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้ตลอดเวลา”
หัวใจสำคัญของโครงการนอกจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยังได้มีการสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังภัยคุกคาม การแจ้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรือขอความช่วยเหลือ (SOS) ได้อย่างทันท่วงที
...เป็นการช่วยในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติยุคใหม่ได้อย่างดี
ยกตัวอย่าง “อุทยานแห่งชาติศรีลานนา” มีพื้นที่รับผิดชอบ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนบน มีสัตว์ป่านานาชนิด
ส่วนพื้นที่ของหย่อมบ้านห้วยกันใจก็ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ ป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1B หรือ ป่าต้นน้ำ เสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน (เขาหัวโล้น) และเป็นแหล่งกำเนิดลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล
แต่...จากปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อขยายพื้นที่ทำกินของชุมชนรุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่อุทยานฯ จึงเป็นที่มาของปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้านอย่างรุนแรง...เนื่องจากชาวบ้านไม่เข้าใจและไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา ทางอุทยานฯจึงปรับแนวทางการดำเนินงานใหม่
ยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา บอกว่า เราจึงเน้นการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดเวทีเจรจากันในชุมชนเพื่อเน้นย้ำให้ชาวบ้านตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และสร้างความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้
เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้ชัดเจน ได้มีการนำอุปกรณ์เครื่องอ่านค่าพิกัดดาวเทียม (GPS) มาใช้เปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 และภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบัน เพื่อกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยทุกขั้นตอนจะทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานฯกับตัวแทนของชุมชน...จนชาวบ้านยอมรับ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ผลที่เกิดขึ้นตามมา...ถึงวันนี้นำไปสู่การคืนผืนป่าแล้วกว่า 1,300 ไร่
ร.ต.ท.นคร ปัญญาทิพย์ ที่ปรึกษาชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เสริมว่า เราใช้พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา แก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ...อำเภอพร้าวเริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ปี 2519 เมื่อคนมากขึ้น แต่ที่ดินทำกินมีน้อยลง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการบุกรุกทำลายป่าไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องหันมาแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง
สาม ตามิ พ่อหลวง หรือผู้ใหญ่บ้านสามลี่ หมู่ที่ 11 ต.แม่แวน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ คุยให้ฟังว่า ชาวบ้านที่นี่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้ว แต่จู่ๆเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาจับพวกเรา บางคนก็เข้าใจ แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าใจ ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งกันมาโดยตลอด ปัจจุบันชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่เข้าใจกันดีแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานฯก็พยายามชี้แจง...การตัดต้นไม้ทำลายป่าผิดกฎหมายอย่างไร จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง
ทุกวันนี้...ไม่มีการบุกรุกทำลายป่าเพิ่ม ชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินครัวเรือนละ 10 ไร่, 15 ไร่ หรือ 20 ไร่ ส่วนใหญ่จะทำการเกษตรปลูกข้าวไร่บนดอย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เลี้ยงหมู
ยศวัฒน์ บอกอีกว่า ชุมชนยังร่วมกันกำหนดกติกาหมู่บ้านเพื่อเฝ้าระวังการบุกรุกป่าอย่างจริงจัง และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการปลูกป่าบนเขาหัวโล้น โดยการมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น...ยิ่งทำให้ชาวบ้านเกิดแนวคิดหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าไม้ คืนพื้นที่ป่าให้กับอุทยานฯ ส่งผลให้อุทยานฯมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก ท่านพระครูวรวรรณวิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านหลวง เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด ประธานบูรณะวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ “พระอนุรักษ์ป่า” ...แกนนำในการสร้างศูนย์เรียนรู้ในชุมชนจนกลายเป็นชุมชนต้นแบบ...
...
การ “อนุรักษ์” ทรัพยากร “ป่าไม้” และ “ป่าต้นน้ำ”
“วันนี้...ยืนยันได้ว่าในพื้นที่อำเภอพร้าวไม่มีการบุกรุกป่าอีกแล้ว” ยศวัฒน์ว่า
“เราจะทำการบล็อกพื้นที่เอาไว้ เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และทางหน่วยต้นน้ำก็จะดำเนินการขับเคลื่อนต่อ ส่วนหน่วยพัฒนาที่ดินของกระทรวงเกษตรฯก็เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ให้มีแหล่งน้ำ...สร้างฝายหลวงชะลอน้ำ และเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงก็เข้าไปส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านที่ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินให้มีรายได้เพิ่มขึ้น”
สำหรับในส่วนพื้นที่ที่ผ่อนผัน ทางอุทยานฯก็จะออกแบบให้ชาวบ้าน...มุ่งส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว พร้อมทั้งให้ชาวบ้านทำแนวกันไฟป่า โดยทางอุทยานฯได้ปักหลักซีเมนต์ล้อมรอบพื้นที่ทำกินไว้แล้วกว่า 900 หลัก
ในอนาคตถ้าชุมชนมีรายได้พอเพียง ทางอุทยานฯก็จะเจรจาขอลดพื้นที่ทำกินลงอีกเรื่อยๆ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำในตอนนี้คือ การเพิ่มพื้นที่ป่า...และ...การสร้างจิตสำนึกให้คนอยู่ร่วมกับป่า ส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน อนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งเสริมปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ เพื่อ “ลดต้นทุน” การผลิตที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
โดยยึดแนวทางพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “ปลูกป่าในใจคน”.