กรมพัฒนาที่ดิน เร่งให้ความช่วยเหลือชาวสวน แนะระบายน้ำออกพร้อมใช้น้ำหมักชีวภาพ พด. 2 เพื่อป้องกันปัญหาต้นไม้โคนเน่าจากน้ำ พร้อมฟื้นฟูสภาพดินหลังน้ำลดลง..

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟู พร้อมแก้ปัญหาบำบัดน้ำเน่าเสียกลิ่นเหม็นอย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน เร่งเตรียมแผนการดำเนินงานฟื้นฟูดิน และเข้าช่วยเหลือชาวสวนเพื่อป้องกัน ไม่ให้ต้นไม้เกิดปัญหาโรครากโคนเน่าหลังจากน้ำลด ส่วนในระยะยาวให้สถานีพัฒนาที่ดินสำรวจความต้องการของชุมชนในการขุดลอกแหล่งน้ำ หรือสระน้ำเพื่อเป็นการรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

ทางด้าน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เผยว่า หลังลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมได้แนะนำพื้นที่เกษตรในกลุ่มพื้นที่นาข้าวภายหลังน้ำบริเวณรอบลดลง ควรเร่งทำการระบายน้ำออกโดยเร็วที่สุดปล่อยให้ดินแห้งเพื่อไม่ให้ต้นข้าวเน่าตาย จากนั้นใช้น้ำหมักชีวภาพ พด. 2 อัตรา 5 ลิตร/ไร่ โดยปล่อยละลายรอบๆ คันนา ห้ามลงไปย่ำ เพราะจะทำให้ต้นข้าวเกิดการสั่นสะเทือน ทำให้รากขาดยืนต้นตาย ส่วนบริเวณที่มีน้ำนิ่งท่วมขัง เน่าเหม็น ให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ทำสารบำบัดน้ำเน่าเสีย เพื่อช่วยขจัดกลิ่นเหม็น โดยใช้อัตรา 1 ลิตร ต่อปริมาณน้ำในนา 10 ลูกบาศก์เมตร สาด พ่นทุก 3-10 วัน                

นอกจากนี้ พื้นที่ที่เป็นสวนไม้ผลให้ ทำทางระบายน้ำไหลออก ห้ามนำเครื่องจักรหนักเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่ และห้ามเข้าเหยียบย่ำโคนต้นไม้เพราะจะทำให้ต้นไมทรุดโทรม หลังหน้าดินแห้งใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 3 จำนวน 1 ซองต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่น จะช่วยป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในต้นพืชได้อย่างดี นอกจากนี้พื้นที่โดยรอบอาจปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ เช่น ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า

...

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้นอกจากฟื้นฟูสภาพดินหลังน้ำลดลงแล้ว ยังเหมาะสำหรับการเตรียมการไว้ก่อนน้ำท่วมอีกด้วย ในบริเวณที่แน่ใจว่าจะมีน้ำท่วมขัง ในปลายฤดูฝนก็อาจปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ก่อน หรือปลูกพืชไร่อายุสั้นที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนจะมีน้ำท่วมขัง โดยปลูกให้มีระยะถี่กว่าปกติ และวางแถวพืชขวางความลาดเทของพื้นที่ หรือวางขวางทิศทางการไหลของน้ำหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้ทิ้งตอซังไว้ในพื้นที่โดยไม่ต้องไถกลบ ทั้งนี้ตอซังจะช่วยลดความรุนแรงของกระแสน้ำที่ไหลบ่า ช่วยยึดหน้าดินไม่ให้น้ำพัดพาออกไปจากพื้นที่.