ค้นพบ "เครือศักดิ์สุวรรณ" พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ถิ่นดั้งเดิมจาก “เทือกเขาภูพาน” ชวนเที่ยวชมได้ที่ สวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น ฝักมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ช่อดอกเมื่อแก่เป็นสีเหลือง
เมื่อวันที่ 9 ส.ค.60 ดร.คณิต แวงวาสิต รักษาการหัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น เปิดเผยว่า มีการค้นพบไม้ชนิดใหม่ โดยพืชชนิดนี้มีถิ่นการกระจายพันธุ์ดั้งเดิมบริเวณ “เทือกเขาภูพาน” ค้นพบโดย ศ.ดร.ประนอม จันทรโณทัย นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ของไทย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ราวปี 2543 และได้นำผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้สกุลเสี้ยวของประเทศไทย คือ ศ.ไค ลาร์เซน นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ชาวเดนมาร์ก ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยอาจารย์สุพีร์ ศักดิ์สุวรรณ ลาร์เซน ภรรยาของ ศ. ไค ลาร์เซน ท่านทั้งสองไปดูตัวอย่างและตรวจสอบเป็นเวลาหลายปีจนคาดว่าน่าจะเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ซึ่งเดิมทีก่อนที่จะตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เคยเรียกง่ายๆ ตามลักษณะของใบและฝัก คือใบจะมีลักษณะคล้ายกันกับใบเสี้ยวและฝักมีลักษณะมีขนนุ่ม คล้ายกำมะหยี่ จึงเรียกว่า "เสี้ยวกำมะหยี่"
...
ดร.คณิต กล่าวต่อว่า ต่อมาอาจารย์สุพีร์ ได้มอบหมายให้ ศ.ดร. ประนอม จันทรโณทัย เป็นผู้ดำเนินการตีพิมพ์ชื่อวิทยาศาสตร์ ให้เป็นเกียรติแก่ ศ.ไค ลาร์เซน และอาจารย์สุพีร์ ศักดิ์สุวรรณ ลาร์เซน และได้นำชื่อสกุล ของอาจารย์สุพีร์ คือ ศักดิ์สุวรรณ มาเป็นชื่อพรรณไม้นี้ จึงได้เรียกว่า “เครือศักดิ์สุวรรณ” และชื่อวิทยาศาสตร์ ก็ได้มาจากชื่อสกุลของทั้งสองท่านเช่นกัน คือ Phanera larseniana Chantaranothai, Mattapha & Wangwasit ซึ่งได้รับการยอมรับการตีพิมพ์ชื่อนี้ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560
นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมตั้งชื่อวิทยาศาสตร์นี้ด้วยอีก 2 ท่าน คือ อาจารย์ ดร. ไสว มัฐผา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดร และ ดร. คณิต แวงวาสิต จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ โดยตั้งแต่ปี 2545 ทางสวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่นก็ได้นำเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์ และปลูกไว้ภายในสวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่นแห่งนี้
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชม “เครือศักดิ์สุวรรณ” พรรณไม้ใหม่ของโลก ช่วงเดือนพฤษภาคม-กุมภาพันธ์ จะพบฝักที่มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ส่วนใครที่ต้องการดูดอกให้มาดูในช่วงกลางเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี สามารถเข้าชมได้ที่สวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น ที่อยู่ 232 ม.9 ต.เพ็กใหญ่ อ.พล จ.ขอนแก่น โทร. 093 5624997
อนึ่ง "เครือศักดิ์สุวรรณ" จัดเป็นไม้เลื้อยมีเนื้อไม้ มีมือเกาะ 7-18 ซม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นหนานุ่มสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยวแบ่งเป็น 2 พู ค่อนข้างหนาคล้ายหนัง ก้านใบยาว 9.5-17.5 ซม. มีขนสั้นหนานุ่มสีน้ำตาลแดง แผ่นใบ 19-35 x 13.5-26.5 ซม. เส้นใบ 10-13 เส้น หูใบ รูปเสี้ยวพระจันทร์ ช่อดอก เป็นช่อเชิงหลั่น ก้านดอก 2.5-5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ปลายแหลม กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อแก่ เกสรเพศผู้สืบพันธุ์ได้ 3 อัน มีอับเรณู 0.5 มม. เกสรเพศผู้เป็นหมัน 2-6 อัน ขนาดใหญ่ 2 อัน มีอับเรณู 0.5 มม. ขนาดเล็ก 0-4 อัน ไม่มีอับเรณู รังไข่มีก้าน ฝัก แก่แล้วแตก มีเนื้อไม้ รูปขอบขนาน แบน ขนาด 20-45 x 5-9 ซม. มีขนสั้นนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลแดง เมล็ดแบน รูปไข่ ขอบขนาน หรือกลม 20-32 x 14-24 ซม.สีน้ำตาลแดง
ภาพโดยสวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น