ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ ในคลองดอนจั่น คลองหลวง คลองเจ็ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน และคลองผีหลอก ใน ต.แพรกหนามแดง กับ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสาคร และยังเข้าไปแพร่พันธุ์ในบ่อเลี้ยงปลา บ่อกุ้ง เกือบ 10,000 ไร่

ไม่เพียงแค่นั้น ยังเริ่มส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ใกล้เคียง อ.บ้านเเหลม จ.เพชรบุรี เพราะมีสายน้ำจากคลองใน อ.อัมพวา ไหลไปบรรจบกัน

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ส่งนักศึกษาลงพื้นที่ไปสำรวจ พบสัตว์น้ำท้องถิ่นในคลองยี่สาร ที่มีกว่า 40 ชนิด ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลากระบอก ปลาตะกรับ และปลาอีกง ลดจำนวนลงไปมาก

คนในพื้นที่เริ่มพบปลาเหล่านี้ได้น้อยลง...จับได้แต่ปลาหมอสีคางดำ

จากข้อมูลเดิม... เมื่อปี 2553 ได้มีบริษัทเอกชนด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขออนุญาตกรมประมง ผ่านทางสถาบันวิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำ นำเข้าปลานิล ปลาหมอเทศข้างลาย และปลาหมอสีคางดำ รวมกันประมาณ 5,000 ตัว เพื่อมาทำการผสมพันธุ์ให้เป็นปลาเศรษฐกิจ

แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนจะได้ส่งซากปลาคืนให้กรมประมง ตามจำนวนที่ได้ขออนุญาตนำเข้ามา...แต่ไฉนหลุดรอดลงไปแหล่งน้ำได้???

ล่าสุด นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เล็งเห็นปลาหมอสีคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น กินอาหารเก่ง กินได้ทั้งแพลงก์ตอน ลูกกุ้ง ลูกปลา ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว อยู่ได้ทั้งน้ำจืด กร่อย และเค็ม เตรียมจัดโครงการกำจัดปลาหมอสีคางดำ ด้วยการรับซื้อในช่วงระยะเวลาจำกัด แต่อยู่ระหว่างกำหนดเงื่อนไข และราคารับซื้อ

ส่วนแนวทางต่อไปจะร่างกฎหมายขึ้นบัญชีปลาหมอสีคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด พร้อมเพิ่มบทลงโทษผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครนำไปปล่อยในแหล่งน้ำ ในพื้นที่จับสัตว์น้ำ จำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

...

แล้วจะย้อนรอยไปถึงบริษัทที่นำเข้า และนำตัวคนปล่อยลงแหล่งน้ำมาลงโทษได้ไหม.

สะ–เล–เต