ขับรถป้ายแดงผิดกฎหมายไหม? ป้ายใช้ได้กี่เดือน? รถป้ายแดงห้ามขับตอนกลางคืนจริงหรือ? หลายคำถามมาจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก และทยอยไถ่ถามกันมาตลอด ขนส่งฯ ไขข้อสงสัยรถป้ายแดงวิ่งเกลื่อนเมือง ใช้ได้เฉพาะเพื่อขาย-ซ่อม ออกต่างจังหวัดต้องระบุลงคู่มือ ห้ามขับตอนกลางคืน เผย สาเหตุความเข้าใจผิดมาจากดีลเลอร์ และผู้ซื้อรอทะเบียนเลขสวย...
รถป้ายแดงวิ่งว่อนกันทั่วเมือง แต่หลายคนยังสงสัยว่า การใช้รถป้ายแดงผิดกฎหมายหรือไม่ และห้ามขับตอนกลางคืนจริงหรือเปล่า ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ขอนำเสนอบทความจาก นางเกษราภรณ์ คงเดช นิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย กรมการขนส่งทางบก เพื่อปลดล็อกทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ “รถป้ายแดง” โดยเป็นการสรุปให้ผู้อ่านได้เข้าใจง่ายมากขึ้น
1. ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 27 และมาตรา 28 นั้น อนุญาตให้ใช้รถป้ายแดงได้เฉพาะกรณี เพื่อขาย เพื่อซ่อม เท่านั้น
คำว่า “เพื่อขาย” หมายถึง กรณีที่ผู้ผลิตจัดส่งรถไปยังผู้แทนจำหน่าย ซึ่งเดิมทีไม่มีรถบรรทุกสำหรับบรรทุกรถไปยังผู้แทนจำหน่าย จึงต้องใช้วิธีขับรถไปส่ง หรือบางท้องที่การคมนาคมไม่สะดวก
ส่วนคำว่า “เพื่อซ่อม” หมายถึง ใช้ขับเพื่อนำรถไปซ่อม แต่ข้อเท็จจริงรถส่วนใหญ่ที่นำไปซ่อมเป็นรถที่จดทะเบียนแล้ว จึงไม่ปรากฏว่ามีการใช้ป้ายแดงเพื่อนำรถไปซ่อม
2. กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน ซึ่งปัจจุบันผู้ที่ขอรับใบอนุญาตจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายเท่านั้น ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องเสียค่าป้ายแดง แต่ดีลเลอร์จะเป็นผู้รับผิดชอบ
...
3. เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว นายทะเบียนจะออก “สมุดคู่มือประจำรถ” และ “เครื่องหมายพิเศษ” หรือที่เรียกกันว่า “ป้ายแดง”
4. ให้ใช้ป้ายแดงระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก
5. ผู้ผลิต หรือผู้แทนจำหน่ายที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ป้ายแดง ต้องบันทึกรายการลงในสมุดคู่มือประจำรถเกี่ยวกับยี่ห้อรถ หมายเลขตัวรถ หมายเลขเครื่องยนต์ของรถ ความประสงค์ในการขับรถ ชื่อสกุลของผู้ขับรถ วัน เดือน ปี และเวลาที่นำรถออกไปขับและกลับถึงที่ ส่วนจะออกต่างจังหวัดไปไกลแค่ไหนต้องระบุไว้ในคู่มือก่อนเดินทางด้วย
6. ผู้ที่ซื้อรถจากตัวแทนจำหน่ายโดยติดป้ายแดง สามารถใช้รถดังกล่าวได้ เป็นความเข้าใจที่ผิด และการนำสมุดคู่มือประจำรถสำหรับป้ายแดงมาใช้โดยทั่วไป จึงเข้าลักษณะการใช้รถไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
7. สาเหตุความเข้าใจผิด เกิดจากผู้จำหน่ายรถไม่สามารถออกหลักฐานต่างๆ ให้กับผู้ซื้อเพื่อนำมาจดทะเบียนได้ทันที ทำให้ผู้ซื้อรถต้องใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียนไปก่อน และอ้างว่ายังอยู่ระหว่างจดทะเบียนกับกรมการขนส่งฯ
8. แท้จริงแล้วกรมการขนส่งฯ ดำเนินการจดทะเบียนรถให้แล้วเสร็จภายใน 1 วันเท่านั้น
9. สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการใช้ป้ายแดง คือ ประชาชนต้องการเลือกหมายเลขทะเบียนรถตามความเชื่อ และความนิยม ดังนั้น จึงต้องรอให้ถึงหมวดอักษร หรือหมายเลขทะเบียนที่จองก่อน ทำให้รถป้ายแดงยังวิ่งกันเกลื่อนเมือง
10. การใช้ป้ายแดงอย่างไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทำให้รัฐขาดรายได้จากภาษีประจำปี และไม่สามารถตรวจสอบผู้ขับรถที่กระทำฝ่าฝืนกฎหมาย หรือนำรถไปใช้ในการกระทำความผิด หรือตรวจสอบรถที่เกิดอุบัติเหตุได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
11. ดังนั้น การการใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียน เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย มีความผิด ตำรวจสามารถดำเนินการปรับได้ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ในมาตรา 6 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่ยังมิได้จดทะเบียน ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 59 ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
12. ส่วนกรณี "ป้ายแดง" นั้น หากฝ่าฝืนตามมาตรา 27 และ 28 จะมีความผิดตามมาตรา 60 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากกรมการขนส่งทางบก ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องด้วยปัจจุบันมีคนใช้ป้ายแดงผิดวัตถุประสงค์จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทางกรมการขนส่งฯ กำลังจะมีมาตรการออกมาเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น.