นับแต่อ่านตำราภาษาไทย เล่มอาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ อาจารย์เน้นตัวหนังสือ เหมือนพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ว่า วลี “หมายกำหนดการ” ใช้กับหมายงานคนใหญ่ในรัฐบาลไม่ได้ ผมก็ไม่เคยใช้ผิดอีก
พอได้ข่าว สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.2529 เล่มหนา หนัก ทั้งชุด 10 เล่ม ที่อาจารย์เป็นเจ้าของโครงการ พิมพ์เสร็จ ผมดิ้นรนไปถึงสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่เกาะยอ สงขลา ...กว่าจะอุ้มมาถึงรถได้ เหนื่อยไม่ใช่เล่น
ติดขัดคอลัมน์วันไหน เปิดหนังสือ ความรู้อาจารย์เหมือนน้ำมาทะเล ใช้เท่าไหร่ ก็ไม่หมด
วันนี้ ผมเอาสารานุกรมฯเล่ม 2 อ่าน เรื่องเงินตรา ที่ใช้ในภาคใต้ อาจารย์บอกว่า คำว่าเบี้ยในภาษาถิ่นใต้ ยังคงใช้หมายถึงทรัพย์สินเงินทองอยู่ จนถึงวันนี้ เช่น คนยังเบี้ย คือคนมีฐานะดี ร่ำรวย
นายเบี้ย คือนายเงิน หรือนายทุน...แบบที่มีคนตั้งใจบอก ผบ.ตร.จักรทิพย์ว่า เป็นคนอยู่เบื้องหลังบังฟัต คดีฆ่ายกครัว 8 ศพ ที่อ่าวลึก กระบี่
ไม่มีเบี้ย แปลตรงตัว ไม่มีเงิน
พ.ศ.2405 ค่าเงินเบี้ยตกต่ำมาก ชาวต่างประเทศนำหอยเข้ามาขาย ถึงขนาด 100 เบี้ย ซื้อกินได้ “ไม่เต็มอิ่ม”
รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้ทำเหรียญดีบุกผสมทองเหลือง ใช้แทนเบี้ยเพื่อการค้าขายปลีกย่อย เรียกว่า กะแปะ
ทำเป็นสองชนิด คือเหรียญอัฐ และโสฬส
ทรงแตกฉานบาลี เรียกชื่อเหรียญชนิดนี้ใหม่ เป็นคำบาลี เพื่อจะได้บ่งมาตรฐานแลกเปลี่ยนสัมพันธ์กับเหรียญเฟื้อง กล่าวคือ “อัฐ” มาจากคำบาลี “อัฏฐ” แปลว่า แปด เพราะเหรียญ 8 อัน จึงจะมีราคาเท่ากับ 1 เฟื้อง
ส่วนคำโสฬส เป็นคำบาลี แปลว่าสิบหก เพราะเหรียญโสฬส 16 อัน จึงจะมีค่าเท่ากับ 1 เฟื้อง
รัฐบาลประกาศใช้เหรียญดีบุกทั้ง 2 ชนิด วันที่ 25 ส.ค.2405 เมื่อเหรียญแพร่หลายไปภาคใต้ ชาวภาคใต้เรียกเหรียญโสฬสสั้นๆว่า “ลด” หรือ “เบี้ยลด”
...
ชาวบ้านทั่วๆไป เรียกเหรียญดีบุกว่า กะแปะ หรือ อีแปะ เหรียญอัฐให้ใช้แทนเบี้ย 100 เบี้ย เหรียญโสฬส ให้ใช้แทนเบี้ย 50 เบี้ย แต่จะนำเบี้ยไปแลกเหรียญจากรัฐบาลไม่ได้
เบี้ยจึงเสื่อมความนิยม และค่อยๆเลิกไปโดยปริยาย
พร้อมกันรัฐบาลอนุญาตให้หัวเมืองทำเหรียญตะกั่วใช้เองได้ ปกติค่าเบี้ยตะกั่วเท่ากับ 1 โสฬส หรือ 1 ลด แต่เนื่องจากเมืองต่างๆ กำหนดราคากันเอง เบี้ยตะกั่วของแต่ละเมืองจึงมีค่าไม่เท่ากัน
เงินชนิดอื่นก็ต่างกันไปด้วย เช่นเงินก้อน เมืองนครศรีธรรมราช 6 ก้อนเป็น 1 เหรียญ แต่ของเมืองสงขลา 10 ก้อน เป็น 1 เหรียญ
เหรียญตะกั่วทำขึ้นใช้แทนเบี้ยหอย ชาวใต้เรียกกันว่า เบี้ยกัว แต่ความที่เหรียญตะกั่วบุบสลายหรือบิ่นง่าย คนใต้เรียกบิ่นว่า แหวง (คือแหว่ง จึงเกิดสำนวน “ไม่เบี้ยสักแหวง”
หมายความว่า ไม่มีเงินใช้เลย แม้แต่เหรียญตะกั่วเก่าๆแหว่งๆ สักอัน
คนไม่มีเบี้ย มีคำเรียกขานอีกคำ “เงิ้ง” เป็นสำนวนเปรียบเปรยเชิงดูหมิ่น ทำนองว่าคอยชะเง้อหาด้วยสายตาละห้อย หวังให้เขาหยิบยื่นเศษเดนให้ เหมือนสุนัขที่เฝ้าชะเง้อใต้ถุนครัว คอยเศษอาหารที่จะตกหล่นลงมา
คนใต้เรียกอาการนี้ว่า “หมาเงิ้งก้าง”
ผมค้นสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เอาวิชาครูมาขยาย แต่วันนี้ขอเว้นกระทบกระทั่งใคร เพราะได้ข่าว ครูสุธิวงศ์ ท่านสิ้นเสียแล้ว
ผมเป็นคนไกลครู ขอค้นงานของท่านมาอ่าน แทนการบูชาครู ...ระลึกถึงครู ซึ่งคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
หนังสือของครูยังอยู่ใกล้ๆ เหมือนอนุสาวรีย์เตือนใจ ว่าครู ยังอยู่ ครูยังไม่ไปไหน วิชาความรู้ของครูนั้นเป็นอมตะ ไม่มีวันตาย ผมคงต้องอ่านต่อไป จนกว่าจะตายตามครูไปอีกคน.
กิเลน ประลองเชิง