ฝนถล่มเชียงราย หลายพื้นที่น้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะ อ.แม่สาย น้ำป่าไหลจากดอยนางนอน ไหลบรรจบกับมวลน้ำในแม่น้ำเหียะ แถมมีเศษไม้ปะปนไหลกีดขวางทางระบายน้ำ ประกอบกับคลองระบายคับเเคบ ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาเป็นวงกว้าง 10 หมู่บ้าน ถนนทางขึ้นวัดพระธาตุดอยตุง ถูกตัดขาด หลังมีดินสไลด์และต้นไม้ขนาดใหญ่กับเสาไฟฟ้าโค่นล้มทับปิดเส้นทางการจราจร ส่วน จ.กาฬสินธุ์ น้ำป่าจากเทือกเขาภูพาน ไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ อ.นาคู รุนแรง ผู้ว่าฯ สั่งเตรียมพร้อมรับมือเต็มพิกัด ด้านกรมอุตุฯเตือนพายุโซนร้อน “เซินกา” ถล่มเวียดนามมีผลกระทบต่อประเทศไทย มีฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือและอีสาน

พายุฝนถล่มเหนืออีสานหลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วง โดยผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ว่า ที่ จ.เชียงราย พายุฝนที่ตกตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ทำให้ น้ำป่าจากเทือกเขานางนอน อ.แม่สาย ไหลเข้าท่วมพื้นที่ ต.โป่งผา เป็นวงกว้าง 10 หมู่บ้าน บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 100 หลังคาเรือน พืชไร่ นาข้าว เสียหายกว่า 300 ไร่ ขณะที่ถนนพหลโยธินฝั่งขาขึ้นบริเวณบ้านนาปง หมู่ 8 ต.โป่งผา ถูกน้ำท่วมสูงต้องปิด เส้นทางสัญจรเหลือเพียง 1 ช่องทาง ทั้งนี้ นางนภาสรณ์ ทาตุการ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 บ้านจ้อง ต.โป่งผา กล่าวว่า สาเหตุน้ำท่วมเกิดจากน้ำป่าไหลจากดอยนางนอน ลงมาบรรจบกับมวลน้ำในแม่น้ำเหียะ แถมมีเศษไม้ปะปนไหลกีดขวางทางระบายน้ำ ประกอบกับคลองระบายคับเเคบ ทำให้ท่วมหนักไม่เคยท่วมเช่นนี้มากว่า 3 ปี โดยเฉพาะบ้านผาหมี ต.เวียงพางคำ เกิดดินถล่มทับเส้นทางแม่สาย-บ้านผาหมี 3 แห่ง และเส้นทางขึ้นวัดพระธาตุดอยตุง ต.ห้วยไคร้ หลัก กม.ที่ 1.4 มีดินถล่มลงมาพร้อมกับต้นไม้ขนาดใหญ่และเสาไฟฟ้าโค่นล้มทับปิดเส้นทางการจราจร และเส้นทางจากวัดพระธาตุดอยตุง ขึ้นไปที่ตั้งเจดีย์พระธาตุดอยตุง ห่างจากวัด 2 กม.มีดินภูเขาสไลด์เป็นครั้งที่ 3 เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายกำลังเข้าไปแก้ไข

...

ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำแม่จัน อ.แม่จัน เพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อล้นท่วมถนนบริเวณสามแยกแม่อายใต้ ต.แม่จัน ระดับน้ำสูง 30-50 ซม. รถเล็กสัญจรไปมาลำบาก เจ้าหน้าที่ต้องปิดเส้นทางจราจร 1 ฝั่ง นอกจากนั้น น้ำป่ายังไหลหลากจากเทือกเขาดอยตุงลงน้ำแม่ไร่ เศษขยะและต้นไม้ขวางทางน้ำ ทำให้ระบายไม่ทันล้นฝั่งทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 4 หมู่บ้าน สะพานชำรุด 2 แห่ง พนังกั้นน้ำเสียหาย 1 แห่ง นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่จัน นำเจ้าหน้าที่ออกให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ขณะที่นายนิวัฒน์ งามธุระ นายอำเภอเทิง สั่งผู้นำท้องถิ่นสำรวจผลกระทบน้ำท่วมของ ต.งิ้ว ต.เวียง และ ต.หนองแรด พบนาข้าวเสียหาย 1,800 ไร่ พืชไร่ 930 ไร่ บ้านเรือน 12 หลัง และที่บ้านผาแล หมู่ 6 ต.ปอ อ.เวียงแก่น เกิดดินจากหน้าผาถล่มทับสวนส้มโอ ไร่ข้าวโพด ของชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นแนวยาวกว่า 300 เมตร

เช่นเดียวกับพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย น้ำป่าไหลหลากท่วมพื้นที่การเกษตรและท่วมถนนสายเชียงราย-เทิง หน้าตู้ยามท่าสาย ต.ท่าสาย ต้องปิดกั้นถนนจนใช้ได้เพียงช่องทางเดียว แถมปริมาณน้ำในแม่น้ำแม่กก มีระดับสูงขึ้นจนล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมพื้นที่ รร.เดอะเลเจ้นด์ ที่ตั้งอยู่ริมน้ำกก บ้านแควหวาย ต.รอบเวียง ทั้งนี้ นายธนกิจ ฟักแก้ว ตัวแทนชาวบ้าน ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย กล่าวว่า ขณะนี้นาข้าวของชาวบ้านห้วยสักพันกว่าไร่จมน้ำมา 3 เดือนแล้ว ร้องผ่านหน่วยงานท้องถิ่น แต่ยังไม่สามารถระบายน้ำออกจากที่นาได้ จึงได้รวมตัวกันหาทางเปิดทางน้ำที่สปิลเวย์หนองหลวงเพื่อให้ระบายน้ำออก เนื่องจากน้ำหนองหลวงมีปริมาณมาก และไม่สามารถระบายออกไปได้ น้ำจึงเอ่อล้นท่วมนาข้าวในพื้นที่เสียหายยับ ชาวบ้านมาปักหลักอยู่ที่หนองหลวงกว่าสัปดาห์แล้ว

จ.พิษณุโลก ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านวังแร่ ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ทำนาในพื้นที่ลุ่มกว่า 100 ไร่ต้องเผชิญชะตากรรมเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แม้จะมีโครงการบางระกำโมเดล 60 ของกรมชลประทาน เข้ามาบริหารจัดการน้ำและดูแลช่วยเหลือเกษตรกรเป็นปีแรก เพื่อแก้ปัญหาซ้ำซากของชาวนา อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และ อ.เมืองพิษณุโลก ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงธรรมชาติไปได้ เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่และต่อเนื่องทุกวันในขณะนี้ ส่งผลให้มีน้ำขังในนาข้าวของชาวนาที่อยู่ในที่ลุ่มหลายหมู่บ้าน อายุข้าวใกล้เก็บเกี่ยวได้แล้ว ทำให้ชาวนาหลายรายไม่กล้าเสี่ยงยื้อเวลาไปให้ครบวันเก็บเกี่ยวคือ 100 วันกันได้

ด้าน จ.กาฬสินธุ์ น้ำป่าจากเทือกเขาภูพาน ไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ อ.นาคู รุนแรง นาข้าวจมอยู่ใต้บาดาล 7,108 ไร่ บ้านเรือนถูกน้ำท่วม 420 หลังคาเรือน ชาวบ้านเดือดร้อน 1,303 ครัวเรือน นายสุวิทย์ คำดี ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ศาลาการเปรียญวัดภูแล่นช้าง ต.ภูแล่นช้าง อ.นาคู เพื่อตรวจสอบพื้นที่ พร้อมแจกถุงยังชีพเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับชาวบ้านเบื้องต้น ขณะที่นายธนูสินธ์ ไชยสิริ ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ อ.เขาวง ตรวจสอบสภาพน้ำท่วม พบหมู่บ้านโพนวิมาน หมู่ 7 ต.กุดสิมคุ้มใหม่ ถูกน้ำท่วมสูง เพราะมีมวลน้ำจากเทือกเขาภูพานไหลลงห้วยลำพะยังและลำห้วยต่างๆจนน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน ชาวบ้านเดือดร้อนทั่วหน้า เช่นเดียวกับพื้นที่ อ.หนองกุงศรี มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมหลายจุดเช่นกัน โดยเฉพาะเขตเทศบาลตำบลหนองกุงศรี มีการเตรียมพร้อมรับมือเต็มพิกัด

ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว หลังมีฝนตกลงมาอย่างหนักหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก ล่าสุดมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนราว 31 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 1,097 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 55 ของความจุอ่าง ทางเขื่อนลำปาวได้เพิ่มการระบายน้ำออกทางคลองส่งน้ำลงสู่แม่น้ำปาว และสปิลเวย์ เป็นวันละ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อป้องกันพื้นที่หัวเขื่อนท้ายเขื่อนและตามลำน้ำสายหลักได้รับผลกระทบ พร้อมเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังในช่วงนี้

นายวิชาญ แท่นหิน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบมีพื้นที่ได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมแล้วรวม 6 อำเภอ จาก 18 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 13 ตำบล 72 หมู่บ้าน 1,952 ครัวเรือน พื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมและคาดว่าจะได้รับความเสียหายรวม 10,036 ไร่ พืชสวน 28 ไร่ ถนน 10 สาย และพื้นที่การเกษตรอื่นๆอีก 102 ไร่ เจ้าหน้าที่จะเร่งประสานงานกับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือเร่งด่วน ขณะเดียวกัน นายสุวิทย์ คำดี ผวจ.กาฬสินธุ์ สั่งให้พื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่ม และน้ำหลากอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ติดเทือกเขาภูพาน ทั้ง อ.กุฉินารายณ์ อ.เขาวง อ.นาคู อ.สามชัย อ.ห้วยผึ้ง และ อ.สมเด็จ ตลอดจนพื้นที่ราบลุ่มด้วย

...

จ.สุพรรณบุรี หลังมีฝนตกต่อเนื่องเมื่อหลายวันที่ผ่านมา ประกอบกับเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำลงมาภายในแม่น้ำท่าจีน โดยในเขต จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่ที่ต้นทางที่ อ.เดิมบางนางบวช ยาวไปจนถึงปลายทาง ที่ประตูน้ำบางสาม อ.สองพี่น้อง ระยะทางยาวประมาณ 80 กม.ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นจนในบางพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มต่ำน้ำเกือบล้นตลิ่งแล้ว นายปิยพจน์ เกียรติชูสกุล ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.สองพี่น้อง เผยว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ระดับน้ำในคลองบางสามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการตรวจสอบที่ประตูน้ำบางสาม ระดับน้ำอยู่ที่ 1.90 เมตร หากยังมีฝนตกลงมาต่อเนื่องแบบนี้ ประกอบกับน้ำเหนือไหลบ่าลงมาสมทบ อาจทำให้น้ำเอ่อล้นคลองเข้าท่วมไร่นาได้ จึงขอให้ชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ “พายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) ชื่อนกชนิดหนึ่งของประเทศ เวียดนาม บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน” ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 23 ก.ค.60 ความว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) แล้ว มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 500 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 17.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 35 นอต หรือ 65 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2560 พายุนี้จะมีผลกระทบต่อภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันดังกล่าว ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิดไว้ด้วย