การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สร้างสีสันจากความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ภายใต้สโลแกน “Open to the million shades of Thailand” เพื่อนำมาเป็นไฮไลต์ในการโปรโมตแผนการท่องเที่ยวในปี 2561
หนึ่งในความพยายามที่จะสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่งก็คือ “การท่องเที่ยวเชิงอาหาร” ที่เรียกว่า “Gastronomy Tourism” ที่มองว่า อาหารไทยให้อะไรมากกว่าการกิน
หรือความอร่อย แต่เป็นสิ่งที่แสดงถึงวิถีและอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ลึกซึ้งมากกว่าอย่างอื่น และหนึ่งในอาหารที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ก็คือ Street food หรือ “อาหารริมทางเท้า”
ล่าสุด ดร.ชวนี ทองโรจน์ ผู้ช่วย รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่ ถนนข้าวสาร ย่านที่พักและแหล่งอาหารริมทางสุดฮิปของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวว่า อาหารริมทางเท้าของเมืองไทย สะอาด ปลอดภัย มั่นใจได้ในการบริโภค
นายพงษ์ภาณุ อธิบายว่า “การท่องเที่ยวเชิงอาหาร” ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในจุดขายสำคัญที่นักท่องเที่ยวจะนำเงินมาใช้จ่าย สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆแล้ว ดังนั้น การที่เราสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในเรื่องอาหารได้ จะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ
...
“อาหารไทยได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก น้อยมากที่นักท่องเที่ยวซึ่งมาเที่ยวเมืองไทยจะไม่รู้จักอาหารไทย ไม่ว่าจะเป็นต้มยำ น้ำพริก หรือแม้แต่ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ด้วยรสชาติที่กลมกล่อม และน่ารับประทาน และผัดไทยเองก็มีการขายทั้งในร้านอาหารไปจนถึงร้านริมทางเท้า เรียกว่ามีครบทุกระดับ ทุกรสชาติและทุกราคา” นายพงษ์ภาณุ กล่าว
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ข้อมูลว่า ในกรุงเทพมหานคร กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการจัดรณรงค์เรื่องการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยเฉพาะอาหารริมทางเท้า หรือ street food หลังจากที่ประกาศให้ เขตไชน่า ทาวน์ หรือ เยาวราช เป็นย่านที่มีอาหารริมทางเท้าที่ดีที่สุดในประเทศแล้ว พื้นที่เป้าหมายต่อไปก็คือ ถนนข้าวสาร โดยเฉพาะบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเป็นพื้นที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในช่วงกลางคืน หรือ Night Tour ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
...
“ล่าสุดผมได้ลงพื้นที่เพื่อตอกย้ำและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่า กระทรวงฯให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพมาตรฐาน ตลอดจนความสะอาดของพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความสบายใจที่จะบริโภคอาหารริมทางเท้าเหล่านี้” นายพงษ์ภาณุ กล่าวย้ำ
สำหรับมาตรการที่นำมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจในครั้งนี้ มีหลายมาตรการ เช่น ผู้ค้าจะต้องสวมหมวก สวมผ้ากันเปื้อน ภาชนะต้องมีความสะอาด การทิ้ง ล้าง ต้องทำอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวในระยะยาว
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยอีกว่า นอกจากสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านอาหารแล้ว ยังได้เน้นย้ำความปลอดภัยด้านชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว โดยมอบหมายให้ “ตำรวจท่องเที่ยว” และ เจ้าหน้าที่ “ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (TAC)” ที่ประจำอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทั้ง 15 จังหวัด 16 ศูนย์ เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ เชื่อมั่นว่าจะเป็นการช่วยยกระดับและส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในระดับสากลได้
สำหรับพื้นที่บริเวณ ถนนข้าวสาร มีทั้งห้องอาหารและรถเข็น ประมาณ 170 แห่ง คาดว่าในปีนี้จะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 750 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 62 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ร้อยละ 60 เป็นรถเข็นแผงลอย จำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ของกินเล่น, ของหวาน, ไอศกรีม, ผลไม้ อีกร้อยละ 40 เป็นร้านอาหารประเภทต่างๆส่วนใหญ่เป็นอาหารไทย ญี่ปุ่น ตะวันตก
...
“กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เล็งเห็นถึงการท่องเที่ยวภาคค่ำ ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมาใช้เวลาในประเทศมากขึ้น มีการพำนักค้างคืนและอยู่ยาวขึ้น นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้วิถีถิ่นแบบไทย ที่เรียกว่า Local Experience เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยมากขึ้น” นายพงษ์ภาณุ เผยถึงความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยว
ส่วนการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวนับจากนี้ จะมุ่งเน้นในกิจกรรมการท่องเที่ยวหลักเฉพาะ เช่น เส้นทางตามรอยพระบาท, การท่องเที่ยวทางรถไฟ, การจัดประชุมสัมมนา เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวในประเทศ เติบโตขึ้นตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ได้.
ดร.ศศดิศ ชูชนม์