ในบรรดาปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ... ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถือเป็นกรณีสุดคลาสสิก

เพราะพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ข้าว ยาง มันสำปะหลัง ราคาร่วงเพราะผลผลิตมีมากเกินความต้องการใช้ สินค้าล้นตลาด เป็นธรรมดาราคาจะดำดิ่ง

แต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความต้องการใช้อยู่ที่ 8.1 ล้านตัน แต่มีผลผลิตข้าวโพดแค่เพียง 4.57 ล้านตัน...แต่ราคากลับร่วงลงมาได้แบบค้านความรู้สึก

ไม่ล้นตลาด ราคาร่วงได้อย่างไร???... ปัญหานี้ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย อธิบายให้เข้าใจด้วยตรรกะ...โครงสร้างการปลูกข้าวโพดไม่สมดุลกับการผลิตอาหารสัตว์

อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ต้องการใช้ข้าวโพดในปริมาณที่สม่ำเสมอ เท่ากันทุกเดือน

ส่วนการปลูกข้าวโพดบ้านเรา มีผลผลิตออกมา 3 ฤดูกาล ให้ผลผลิตแบบกระจุกตัว ...ฤดูแรกเก็บเกี่ยวในช่วง ส.ค.-พ.ย. มีผลผลิตออกมาสูงถึง 70% ของปริมาณผลผลิตทั้งปี...

...

ฤดูที่สอง เก็บเกี่ยว ธ.ค.-ก.พ. ผลผลิตออกมา 25%...ฤดูที่สาม ข้าวโพดหลังนา เก็บเกี่ยว ม.ค.-พ.ค. มีผลผลิต 5%

“จะเห็นว่าฤดูแรกมีปัญหามากที่สุด แค่ 4 เดือนมีข้าวโพดเข้าสู่ตลาด 70% ขณะที่โรงงานอาหารสัตว์มีศักยภาพรับข้าวโพดได้แค่เดือนละ 8-9% ตลอด 4 เดือนต้องการใช้ข้าวโพดแค่ครึ่งเดียว ที่เหลือเลยล้นตลาด”

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย บอกว่า ถ้าในภาวะปกติ ปัญหามีไม่มาก เพราะจะมีพ่อค้าพืชไร่ ผู้รวบรวมผลผลิตมาช่วยดูดซับ ซื้อข้าวโพดล้นตลาดส่วนนี้ไปอบแห้ง ปรับปรุงคุณภาพ เก็บตุนไว้รอขายในช่วงข้าวโพดขาดตลาด...แต่ด้วยนโยบายรัฐต้องการช่วยเกษตรกร ขอความร่วมมือให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดในราคาควบคุม กก.ละ 8 บาท

พ่อค้าพืชไร่ที่เคยดูดซับไปกักตุน ไม่รู้จะซื้อไปทำไม ในเมื่อตุนไว้ก็ขายได้แค่ 8 บาท...แรงจูงใจไม่มี เลยส่งผลให้ข้าวโพดฤดูกาลแรกมีปัญหาล้นตลาดมากขึ้นไปอีก

“แค่นั้นไม่พอ ข้าวโพดฤดูแรกเก็บเกี่ยว ส.ค.-พ.ย. เป็นช่วงฤดูฝนจะมีความชื้นสูง 30-40% ในขณะที่โรงงานต้องการข้าวโพดความชื้น 14% ถ้าเป็นเมื่อก่อน เกษตรกรจะใช้วิธีเดินหักฝักใส่กระสอบ นำกลับไปแขวนผึ่งลมให้แห้งในยุ้งฉาง แล้วกะเทาะเมล็ดด้วยเครื่องสีขนาดเล็ก ก่อนจะนำไปขาย แต่ทุกวันนี้แรงงานหายาก มีการนำรถเกี่ยวข้าวดัดแปลงมาเก็บเกี่ยวข้าวโพด สีออกมาเป็นเมล็ดได้ในขั้นตอนเดียว”

นายพรศิลป์ บอกว่า นี่คือปัญหาใหญ่ เพราะข้าวโพดความชื้นสูง เมล็ดไม่แกร่ง สีด้วยรถเกี่ยวข้าวเมล็ดจะแตกมากถึง 20-30% โรงงานซื้อมาเก็บภายใน 2-3 วัน ข้าวโพดจะขึ้นรา และอีกไม่กี่วันถัดมาเชื้อราจะปลดปล่อยสารพิษสารก่อมะเร็ง “อะฟลาทอกซิน”...กรมปศุสัตว์ห้ามนำไปทำเป็นอาหารสัตว์เด็ดขาด เพราะสัตว์กินไปแล้วป่วยตายได้

ข้าวโพดส่วนนี้ไม่มีใครต้องการ...ขายไม่ได้ เลยล้นตลาด

ถ้าจะแก้ปัญหาให้จบเด็ดขาด...ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตใหม่ ให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวโพดในช่วงฤดูฝน หันมาปลูกข้าวโพดหลังนาในสัดส่วนที่มากขึ้น นอกจากจะสอดคล้องกับความต้องการใช้แล้ว ยังแก้ปัญหาปนเปื้อนอะฟลาทอกซินได้ด้วย

เพราะเก็บเกี่ยวหน้าร้อน เมล็ดแกร่ง รถเก็บเกี่ยวสีเป็นเมล็ดแล้วไม่แตกเท่านั้นเอง.

ชาติชาย ศิริพัฒน์