เครดิตภาพ : epa

ไทยยูเนี่ยนบริษัทยักษ์ใหญ่กิจการประมงของไทย ร่วมลงนามต่อต้านการจับปลาทูน่าผิดกฎหมาย "Tuna 2020 Traceability Declaration" รวมไปถึงการยับยั้งกดขี่แรงงานในเรือประมง...

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. บุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำเบลเยียม รายงานว่า World Economic Forum ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้แถลงว่า บริษัททำกิจการประมงเกือบ 50 บริษัทร่วมลงนามปฏิญญาการตรวจสอบย้อนกลับปลาทูน่า 2020 "Tuna 2020 Traceability Declaration" เพื่อยับยั้งการจับปลาทูน่าผิดกฎหมายและการกดขี่แรงงานในเรือประมง

ผู้จัดการประชุม Davos Forum ระบุในแถลงการณ์ว่า "มีบริษัททำการประมงขนาดใหญ่ รายย่อย และกิจการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมลงนามปฏิญญาว่าด้วยการตรวจสอบย้อนกลับการจับปลาทูน่า 2020 โดยให้คำมั่นสัญญาว่า จะต่อต้านการจับปลาทูน่าผิดกฎหมายและนำมาขายในท้องตลาด รวมทั้งยับยั้งการกดขี่แรงงานที่ทำงานในเรือประมงกลางทะเล"

แถลงการณ์ยังระบุ ได้มีบริษัทไทยยูเนี่ยน ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่กิจการประมงของไทยที่มีการผลิตปลากระป๋องสูงสุดเป็นอันดับสามของโลกร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วย โดยผู้ร่วมลงนามให้คำมั่นสัญญาว่า จะทำการต่อต้านการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ลักลอบจับปลาและไม่ทำตามระเบียบของการประมงสากล เพื่อลดจำนวนเรือประมงที่มีการกดขี่แรงงานในเรือประมง ช่วยปกป้องรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีในมหาสมุทร รวมทั้งยกระดับรายได้ของชาวประมงโดยทั่วไปอีกด้วย

สำหรับความตกลงฉบับนี้ได้มีการเจรจากันภายใต้ World Economic Forum และได้รับการสนับสนุนจากองค์กร NGO 18 แห่ง องค์กรเอกชน และประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีการหยิบยกขึ้นเสนอในที่ประชุมว่าด้วยมหาสมุทรขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันจันทร์ที่ 5 มิ.ย.นี้อีกด้วย

...

ทั้งนี้ มีรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่า จำนวนหนึ่งในสามของปลาหลากสายพันธ์ที่มีอยู่ในโลกกำลังตกเป็นเหยื่อของการประมงเกินขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมประมงถึง 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นจำนวนปลาถึง 26 ล้านตัน นอกจากนั้น การจับปลาทูน่าผิดกฎหมายยังมีการกดขี่แรงงานในหลายประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตามความตกลงดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก "Ocean Data Alliance" ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมหน่วยงานหลายภาคส่วน อาทิ บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยี รัฐบาล และหน่วยงานวิจัย ที่จะต้องร่วมมือกันในการรวบรวมข้อมูลให้กับบรรดาบริษัทร่วมลงนามเพื่อให้สามารถหาทางแก้ไขปัญหาและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้มีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนั้น ปี 2020 ยังเป็นปีที่มีการลงนามปฏิญญาแห่งมอลต้า หรือ "MedFish4Ever" ให้คำมั่นสัญญาว่า จะกำจัดการประมงผิดกฎหมายในทะเลเมอริเตอเรเนียนให้หมดสิ้นไปอีกด้วย.