นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาและอินเดีย ระบุว่า โรคปริศนาที่ทำให้เด็กในภาคเหนือของอินเดียเสียชีวิตมากกว่า 100 คนใน 1 ปี เกิดจากการทานลิ้นจี่ตอนท้องว่าง...

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า นานกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กสุขภาพดีหลายคนในรัฐพิหาร ทางเหนือของอินเดีย เกิดอาการชักอย่างกระทันหันและหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยครึ่งหนึ่งของเด็กที่เกิดอาการนี้เสียชีวิต สร้างความฉงนให้แก่แพทย์เป็นอย่างมาก แต่ผลการวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ‘เดอะ แลนเซ็ต’ (The Lancet) ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กๆ เสียชีวิตเป็นเพราะพิษจากผลไม้

ตามที่ระบุในวารสาร เด็กๆ ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นคนยากจนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เน้นการปลูกลิ้นจี่เป็นหลัก และพวกเขาก็ทานผลไม้เหล่านั้นที่ร่วงลงสู่พื้นในสวนผลไม้ ทว่าลิ้นจี่มีสารพิษที่ยับยั้งความสามารถในการผลิตกลูโคสของร่างกาย และจะส่งผลกระทบต่อเด็กอายุน้อยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ออยู่แล้ว เนื่องจากไม่ได้ทานอาหารเย็น

เด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบหลายคนตื่นขึ้นมากลางดึกและกรีดร้องเสียงดัง ก่อนจะเกิดอาการชักและหมดสติเพราะสมองบวมฉับพลัน

นักวิจัยได้ตรวจสอบเด็กที่มีอาการป่วยซึ่งถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเมือง มูซาฟฟาร์ปุระ ระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค. ในปี 2014 และพบควมเชื่อมโยงระหว่างการแพร่กระจายของอาการป่วยที่ทำให้สมองบวม และอาการชักในเด็กในแถบทะเลแคริบเบียน ซึ่งสาเหตุเกิดจากผลแอคกี (ackee) ซึ่งมีสาร ‘ไฮโปกลีซิน’ สารพิษที่ยับยั้งความสามารถในการผลิตกลูโคสของร่างกาย และผลการทดสอบชี้ว่าลิ้นจี่ก็มีสารนี้เช่นกัน

การค้นพบดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเตือนพ่อแม่ในอินเดีย ว่าให้ลูกๆ ทานอาหารเย็นและจำกัดจำนวนลิ้นจี่ที่รับประทาน ส่วนเด็กที่มีอาการป่วยควรเข้ารับการรักษาอาการน้ำตาลในเลือดต่ำทันที และหลังจากนั้น จำนวนเด็กล้มป่วยก็ลดลงจากหลายร้อยคนต่อไป เหลือเพียงประมาณ 50 คนเท่านั้น

...