นิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับ 10 พระมหากษัตริย์รวยที่สุดในโลก ประจำปี 2558 โดยกล่าวอ้างว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร. 9” เป็นพระประมุขร่ำรวยเป็นอันดับหนึ่งของโลก ด้วยสินทรัพย์ในครอบครอง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมระบุว่า พระราชทรัพย์ของพระองค์มีล้นเหลือทั้งที่ดินใจกลางกรุงเทพฯกว่า 7,500 ไร่, หุ้นในธนาคารไทยพาณิชย์ และปูนซิเมนต์ไทย
อันที่จริงแล้ว ถ้าฟอร์บส์ทำการบ้านให้ลึกจริงก็จะรู้ว่า ในหลวง ร.9 ของเรา หาได้เป็นบุคคลร่ำรวยล้นฟ้าติดอันดับโลก เพราะไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนหรือที่ดิน อันเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตลาดสดหรือตึกแถวทั่วประเทศ ที่เป็นของสำนักงานพระคลังข้างที่ ล้วนแต่เป็นทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินส่วนพระองค์
เงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นของแผ่นดินที่มีคณะกรรมการควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด ทั้งในด้านการเก็บรักษาและการใช้จ่ายตามระเบียบกฎหมาย มิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่จะใช้ได้ตามอำเภอใจ โดยรายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่น รายได้จากที่ดิน, อาคาร และหลักทรัพย์ต่างๆ จะนำมาเป็นรายจ่ายได้ก็เฉพาะในส่วนของเงินเดือน, บำเหน็จบำนาญ, เงินรางวัล, เงินค่าใช้สอย, เงินการจร, เงินลงทุน และรายการในการพระราชกุศล แต่หากพระมหากษัตริย์จะทรงใช้สอยเงินทองจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย ต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทุกกรณีเรื่องนี้เขียนไว้ชัดเจนในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479
...
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวเป็นระยะๆว่า “ในหลวง ร.9” ทรงรับประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยทรงออกค่ารักษาพยาบาลให้ทั้งหมด และยังพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่ยากจน, อุปถัมภ์การศึกษาเล่าเรียนของเยาวชนยากไร้ ตลอดจนพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในรูปแบบต่างๆต่อเนื่อง ซึ่งหากรวมกันแล้วรายจ่ายพระราชทรัพย์เหล่านี้ในแต่ละปีย่อมมีมูลค่านับร้อยล้านบาท ทำให้คนคิดไปได้ว่า พระองค์คงจะมีพระราชทรัพย์มากมายขนาดว่ารวยล้นฟ้าล้นแผ่นดิน
แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้น เพราะการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ผนวกกับเงินที่ทรงได้รับทูลเกล้าฯโดยเสด็จพระราชกุศลจากรัฐ และประชาชนผู้จงรักภักดี ซึ่งตระหนักถึงพระราชภารกิจหนักอึ้ง
เมื่อพูดถึงทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่อดีตมาแล้ว พระมหากษัตริย์ไทยพยายามจะแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากพระราชทรัพย์ของแผ่นดิน โดยเรียกขานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ว่า “พระคลังข้างที่” สามารถหยิบพระราชทานผู้ใด หรือใช้จ่ายการอันใดโดยลำพังพระองค์เอง ไม่ต้องบอกให้ผู้อื่นรู้
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.3 ทรงเก็บหอม รอมริบเงินส่วนพระองค์ได้มาก และมีเงินที่เรียกว่า “เงินถุงแดง” สำรองไว้สำหรับใช้เวลาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ เงินส่วนนี้เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ในหลวง ร.3 ทรงเก็บไว้ตั้งแต่สมัยยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงแต่งสำเภาไปค้าขายยังเมืองจีนต่อเนื่องหลายปีมีกำไรมาก ครั้นเมื่อเสวยราชย์แล้ว ก็ยังโปรดให้ขุนนางแต่งสำเภาค้าขายเรื่อยมา โดยรับสั่งว่า “เงินถุงแดง” ให้เก็บไว้ไถ่บ้านเมือง ที่รับสั่งเช่นนี้ดูราวกับทรงพยากรณ์ได้ว่าจะเกิด “วิกฤตการณ์ ร.ศ.112” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 กรณีพิพาทกับฝรั่งเศส และฝรั่งเศสเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พร้อมให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินสองล้านฟรังก์ และยังต้องวางเงินประกันอีกสามล้านฟรังก์ แม้จะรวมเงินแผ่นดิน และเงินที่พระบรมวงศานุวงศ์ช่วยกันบริจาคก็ยังไม่พอ ต้องนำเงินถุงแดงของในหลวง ร.3 มาสมทบเป็นการไถ่บ้านเมืองด้วย
การแยกเงินค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ออกจากเงินแผ่นดินเด็ดขาด เกิดขึ้นในรัชสมัย ร.5 โปรดฯให้ตั้งงบค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ไว้ในงบประมาณประจำปี เป็นการแน่นอนเปิดเผย โดยเรียกว่า “เงินพระคลังข้างที่” มีการบันทึกว่า พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์เดียวในโลกที่จำกัดพระราชอำนาจในการใช้ทรัพย์แผ่นดินด้วยพระองค์เอง.
มิสแซฟไฟร์