ด้วยพระบรมราโชบายอย่างหนักแน่นหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ว่าพระองค์จะไม่เสด็จฯ ไปเยือนประเทศใดเลย หากยังเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ไม่ครบทั้ง ๗๒ จังหวัด ในขณะนั้น เพราะมีพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎรในแต่ละภูมิภาคอย่างละเอียดลึกซึ้งเสียก่อน เพื่อจะได้สามารถนำไปถ่ายทอดให้ประมุขในประเทศต่างๆ เข้าใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยได้อย่างชัดเจน และเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวงที่ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างไมตรีจิตระหว่างประเทศ
ข้างต้นคือ บางส่วนของบทนำจากหนังสือ "ตามรอยเสด็จพระผ่านฟ้า เปิดพระราชมรรคาสู่อาเซียน" ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอคัดนำบางส่วนมาเผยแพร่ สำหรับหนังสือเล่มดังกล่าว ผู้เขียน...ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาก็คือ “เผ่าทอง ทองเจือ” โดยใช้นามปากกาในหนังสือเล่มนี้ว่า "นายทองพับ" ซึ่งได้รวบรวมเรื่องราวอันทรงคุณค่ามากมายเกี่ยวกับการเสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไว้มากมาย และในโอกาสนี้ขอนำผู้อ่านทุกท่านร่วมย้อนอดีตตามรอยเสด็จไปยัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
...
เสด็จฯ เยือนเวียดนาม ประเทศแรกที่เหนือหัว รัชกาลที่ ๙ เจริญสัมพันธไมตรี
การเสด็จฯ เยือนเวียดนามในครานั้น อยู่ในช่วงที่ระบอบคอมมิวนิสต์กำลังแผ่อิทธิพลเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเวียดนามทางตอนเหนือก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบอบคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ณ เวลานั้น สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทต่อการต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก รวมถึง ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้มีนโยบายต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน แต่พระองค์ก็ทรงยืนยันที่จะเสด็จฯ เยือนเวียดนามตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ ประธานาธิบดี โง ดินห์ เดียม ในครั้งนั้นเสด็จฯ ไปเยือนเพียงเวียดนามใต้ที่ยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น จากเรื่องราวที่ถูกบันทึกทั้งหมด แม้ไม่มีแถลงการณ์ที่แน่ชัดถึงเหตุผลการเสด็จฯ เยือน แต่หากพิจารณาดูแล้วก็จะเข้าใจว่าทำไมพระองค์จึงทรงเลือกที่จะไปเยือนเวียดนามในตอนนั้น ดังพระราชดำรัสบางส่วนของพระองค์ที่ว่า
“…ในการมาเยือนประเทศท่านครั้งนี้ เราได้นำเอาไมตรีจิตและความปรารถนาดีของประชาชนของเรามาด้วย ความรู้สึกอันนี้แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่มีมาอย่างผาสุกระหว่างประเทศของเราทั้งสองมาแต่เก่าก่อน การที่ ฯพณฯ ได้เคยไปเยือนประเทศของข้าพเจ้านั้น ยังจำกันได้อย่างชัดเจนและได้อย่างน่าชื่นชมความมีน้ำใจและความเข้าใจอันดีของท่าน ทำให้การไปเยือนของท่านครั้งนั้นเป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้ารู้สึกแน่ใจว่า การไปเยือนประเทศไทยของท่านครั้งนั้นและการมาเยือนของข้าพเจ้าครั้งนี้ จะช่วยกระชับสัมพันธไมตรีอันมีมาแต่เก่าก่อนนี้ให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป…”
ในยามที่บ้านเมืองของพันธมิตรกำลังตกอยู่ในภาวะความไม่สงบ พระองค์ไม่ได้ทรงนึกถึงความรุนแรงและการต่อต้านด้วยกำลังเพื่อปกป้องประเทศ พระองค์กลับทรงนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะช่วยเหลือพึ่งพากันได้ในอนาคต แม้จะแตกต่างกันด้วยรูปแบบการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไป การตกลงพระราชหฤทัยต่อการเสด็จฯ มาเยือนในครั้งนั้น สร้างความประทับใจอย่างสุดซึ้งต่อเวียดนาม ดังคำกราบบังคมทูลจากผู้นำประเทศต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม ความว่า...
“...ความพอใจนี้ ยิ่งทวีมากขึ้น เพราะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้เสด็จฯ มาเยือนเวียดนามเป็นทางการประเทศแรก นับตั้งแต่ที่ได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์ในประเทศไทยเป็นต้นมา
นอกจากนี้ การเสด็จฯ มาเยือนครั้งนี้ยังคงเป็นเครื่องกระชับสัมพันธไมตรีฉันมิตรระหว่างประเทศของเราทั้งสองในยามที่สัมพันธไมตรีนี้ จำเป็นต้องกระชับให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น บรรดาเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้บังเกิดขึ้นที่ชายแดนของประเทศเราก็แสดงให้เห็นชัดเพียงพอแล้ว ถึงเจตจำนงของลัทธิคอมมิวนิสต์และบรรดาบุคคลที่เชื่อในลัทธินั้น
...
…วิวัฒนาการของสถานการณ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ของโลก เป็นเครื่องแสดงให้เห็นชัดถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความสัมพันธ์อันมั่นคงระหว่างประเทศ ที่มิใช่จะต้องการต่อต้านและรักษาไว้ซึ่งสิ่งทั้งหลายที่มีค่าอันแท้จริงของอารยธรรมของชาวเอเชีย เช่นประเทศเวียดนามและประเทศไทยนี้เป็นต้น...”
การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ จะเสด็จฯ ไปตั้งแต่วันที่ ๑๘ - ๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ พระองค์ได้มีพระราชดำรัสสั่งลาประชาชน ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๒ และเสด็จฯ โดยเครื่องบินพระที่นั่งที่กองทัพอากาศจัดถวาย พร้อมทั้งเสด็จฯ กลับประเทศไทยในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒
เมื่อเสด็จฯ ถึงท่าอากาศยาน ตัน ซัน ยึด กรุงไซง่อน ทันทีที่ได้ปรากฏพระองค์ที่ประตูของเครื่องบิน ก็มีปืนใหญ่ฝ่ายเวียดนามยิงสลุตถวายคำนับ ๒๑ นัด การยิงสลุตนี้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าบริสุทธิ์ใจปราศจากอาวุธที่ใช้การได้ ด้านล่างมีประธานาธิบดีเวียดนาม และนางโง ดินห์ ยูห์ ภรรยาของน้องชาย รอรับเสด็จอยู่ หลังจากสิ้นเสียงปืนก็ได้มีพระราชปฏิสันถารกับประธานาธิบดีและ นางโง ดินห์ ยูห์ และได้ทรง แนะนำคณะผู้ติดตามให้ทางฝ่ายเวียดนามได้รู้จัก ในครั้งนั้นมีการแบ่งผู้ติดตามออกเป็น ๒ ขบวนคือ ขบวนหลวง หมายถึงผู้ที่เสด็จตามไปและอยู่ในฐานะแขกของรัฐบาลเวียดนาม และอีกขบวนคือขบวนตามเสด็จ หมายถึงผู้ที่ติดตามเสด็จและไม่ได้อยู่ในฐานะแขกของรัฐบาล
จากนั้นประธานาธิบดีก็ได้กราบบังคมทูลรับเสด็จเป็นภาษาอังกฤษ ในการนี้พระองค์ก็ทรงตอบกลับด้วยภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน ซึ่งหลักการในการตอบกลับเป็นภาษาต่างๆ ของพระองค์ท่านมีดังนี้คือ
“...หากชาวต่างประเทศพูดเป็นภาษาของเขา พระองค์จะรับสั่งกลับเป็นภาษาไทย หากชาวต่างประเทศพูดภาษาอังกฤษ ก็จะรับสั่งกลับเป็นภาษาอังกฤษ หากชาวต่างประเทศพูดเป็นภาษาฝรั่งเศส ก็จะรับสั่งกลับเป็นภาษาฝรั่งเศส…”
...
จากนั้นได้พระองค์ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งจากสนามบินไปยังที่ประทับ ตลอดสองข้างทางซึ่งรวมระยะทางกว่า ๑๐ กิโลเมตร เต็มไปด้วยซุ้มรับเสด็จไม่ต่ำกว่า ๒๐ ซุ้ม ในซุ้มมีทั้งภาษาไทยและเวียดนามอย่างเช่น “ขอพระราชวงศ์จักรีจงสถาพร” “ขอให้สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับเวียดนามจงเจริญ” พร้อมทั้งมีธงชาติไทยประดับคู่ธงชาติเวียดนามตลอดเส้นทาง ตลอดจนมีประชาชนมาเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างเนืองแน่น สถานที่ที่ทางรัฐบาลเวียดนามได้จัดไว้ให้ประทับระหว่างวันที่ ๑๘ - ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๒ อยู่ที่ “ดินห์ เจีย ลอง” ซึ่งเดิมเป็นพระราชวังของกษัตริย์เวียดนาม และในวันที่ ๒๐ ได้จัดที่ประทับให้เป็น พระราชวังที่เมืองดาลัด
สำหรับในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๐๒ ได้เสวยพระกระยาหารมื้อแรกแบบส่วนพระองค์ ณ ที่ประทับ โดยรัฐบาลเวียดนามได้จัดถวายอาหารฝรั่งเศส และมีบริกรเป็นชาวเวียดนามที่สามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่วทุกคน
หลังจากนั้นได้เสด็จฯ ไปยังทำเนียบประธานาธิบดี ณ ที่นั้นมีการถวายพระสุธารสจีน หรือน้ำชาจีน ในการนี้พระองค์ได้พระราชทานเครื่องเขียนถมตะทองให้แก่ประธานาธิบดี พร้อมทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็ได้พระราชทานของที่ระลึกแก่นางโง ดินห์ ยูห์ เป็นผ้าไหมไทยอย่างดี
...
ในค่ำวันนั้น ได้เสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารค่ำที่ทางรัฐบาลเตรียมจัดถวายให้อย่างเป็นทางการที่เรียกกันว่า สเตทแบงเควต หรือการที่เจ้าภาพของประเทศเลี้ยงอาหารค่ำแก่แขกผู้มาเยือน และก็เสด็จฯ ไปชมการแสดงฟ้อนที่ทำเนียบที่พักของประธานาธิบดี
ในค่ำคืนวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่คณะท่านประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเวียดนามเป็นการตอบแทน หรือเรียกว่า รีเทิร์นแบงเควต ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเวียดนาม โดยการจัดเลี้ยงในวันนั้นมีทั้งอาหารฝรั่ง และอาหารไทย รวมถึงมีการพระราชนิพนธ์เพลงสากลและเพลงไทยเดิม ให้บรรยากาศคล้ายกับอยู่ในประเทศไทยอย่างมาก และยังมีการฉายภาพยนตร์ข่าวการมาเยือนประเทศไทยของคณะท่านประธานาธิบดีโง ดินห์ เดียม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ อาทิ ข่าวสมโภช หรือแม้กระทั่งทัศนียภาพและประเพณีที่งดงามของเมืองไทย
ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๐๒ ได้มีการถวายเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันแด่ทั้งสองพระองค์ การเสด็จฯ เยือนประเทศเวียดนามของทั้งสองพระองค์ในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีและพระองค์ทรงได้โทรเลขไปยังประธานาธิบดีเวียดนาม เพื่อแสดงถึงความประทับใจและสัมพันธไมตรีในครั้งนี้โดยไม่ทรงรอให้ถึงประเทศไทยก่อน เมื่อเสด็จฯ กลับไปยังประเทศไทย ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเวียดนามได้ตอบกลับโทรเลข ซึ่งทางทีมข่าวข้อยกบางตอนมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศในครั้งนี้ ความว่า
“เรารู้สึกเชื่อมั่นว่า การเสด็จฯ ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์ ซึ่งได้ทิ้งความทรงจำอันจะลบเลือนเสียมิได้ไว้ทุกแห่งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินผ่านไป จะช่วยกระชับสัมพันธไมตรีที่เคยดำรงมาระหว่างประชาชนของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ถึงแม้จะยังรู้สึกเสียใจ ที่การเสด็จฯ พำนักของพระองค์ครั้งนี้เป็นไปชั่วระยะเวลาอันสั้น ทางฝ่ายเรา ข้าพระเจ้าขอให้พระองค์ทั้งสองทรงรับความปรารถนาดีอันล้นพ้น เพื่อความสุขสวัสดีของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ และเพื่อความยิ่งใหญ่ของรัชสมัยของพระองค์ และความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนชาวไทย”
เสด็จพระราชดำเนินเยือนพม่า “การเดินทางครั้งนี้เรามาเพื่อปลูกฝังมิตรภาพ และความเข้าใจอันดีต่อกัน...”
ตามบทเรียนประวัติศาสตร์ที่เคยได้ร่ำเรียนกันมาทุกคนคงคุ้นชินกับเหตุการณ์เรื่องเล่าในตำราที่ได้มีการบันทึกถึงการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่า แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไประหว่างประเทศไทยกับพม่านั้นไม่ได้จบลงด้วยการเป็นศัตรู แต่กลับกลายเป็นมิตรภาพซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่เสด็จฯ เยือนพม่า ในฐานะราชอาคันตุกะในลักษณะมิตรไมตรีต่อกัน ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔
จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ เยือนพม่าเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยเสด็จตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายอู วิน หม่อง ประธานาธิบดีของพม่า ระหว่างวันที่ ๒ - ๕ มีนาคม ๒๕๐๓ โดยเสด็จฯ ไปพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นับเป็นการเยือนต่างประเทศเป็นประเทศที่ ๓ ตั้งแต่เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ
การเดินทางครั้งนี้เสด็จฯ โดยเครื่องบินพระที่นั่ง เมื่อเสด็จฯ ถึง สนามบิน มิงกาลาดอน กรุงย่างกุ้ง พระองค์ทอดพระเนตรเห็นว่าสนามบินของทีนี่มีความสะอาดเรียบร้อย สวยงาม และทันสมัยมาก จึงมีพระราชดำรัสเป็นแนวทางในการปรับใช้กับประเทศไทย ดังที่ผู้ติดตามได้บันทึกไว้ความว่า
“…ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องของสนามบินเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการอวดชาวต่างประเทศอยู่มาก เพราะเป็นประตูแรกที่จะรับรองชาวต่างชาติเขา ฉะนั้นการที่สนามบินดอนเมืองของเราได้รับการปรับปรุงทันสมัยและรักษาความสะอาดไว้ได้จนทุกวันนี้จึงเป็นสิ่งที่พวกเราควรจะภูมิใจ และช่วยกันรักษาไว้ให้ดี เพื่อช่วยชูเกียรติของประเทศอย่างหนึ่ง...”
และเมื่อเครื่องบินจอดเทียบ ทันทีที่ได้เสด็จปรากฏพระองค์ที่ประตูของเครื่องบิน ก็มีปืนใหญ่ยิงสลุตถวายคำนับ ๒๑ นัด เมื่อเสด็จฯ ถึง ณ ที่บริเวณปะรำพิธี ทั้งสองพระองค์ขึ้นสู่แท่นถวายความเคารพ พร้อมด้วยประธานาธิบดี อู วิน หม่อง และมาดาม วิน หม่อง กราบบังคมทูลเสด็จเป็นภาษาอังกฤษ และแน่นอนว่าพระองค์ได้ตรัสกลับเป็นภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน ในการเสด็จฯ ในครั้งนั้นได้รับการต้อนรับอย่างดี ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งยังไม่เคยมีแขกบ้านแขกเมืองใดได้รับเกียรติได้เท่าพระองค์ หนังสือพิมพ์รายวันของพม่าต่างนำเสนอเรื่องราวการเสด็จฯ มาเยือนของพระองค์ในครั้งนี้ ทั้งพระราชประวัติโดยย่อ บทความต้อนรับ และแสดงความชื่นชมยินดีในการเสด็จฯ แม้กระทั่งการกล่าวสดุดีว่าทรงมีพระราชอิริยาบถที่งดงามบ้าง และทรงเป็นผู้ชนะใจชาวพม่าบ้าง พร้อมทั้งนำเสนอพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ลงในหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งอีกด้วย เช่นในหนังสือพิมพ์ Guardian ได้กล่าวในบทบรรณาธิการเกี่ยวกับการเสด็จฯ มาเยือนในครั้งนี้ ซึ่งทีมข่าวขอยกมาเป็นตัวอย่างบางตอน ความว่า “...ทรงมาเยือนพม่าด้วยไมตรีจิตอันผุดผ่อง พระองค์ทรงเยือนประเทศนี้ไม่ใช่เป็นเพราะอิทธิพลของกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง และมิได้เป็นการเยือนเกี่ยวกับกรณีพิพาทอย่างหนึ่งอย่างใด สาระสำคัญที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ มา ได้แก่ การปลูกฝังมิตรภาพ และความเข้าใจอันดีต่อกัน...”