หญิงชาวโปแลนด์นับล้านคนออกมาเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนทั่วประเทศเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ต.ค. เพื่อต่อต้านข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามการทำแท้งในประเทศในทุกกรณี...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สตรีจำนวนมากในโปแลนด์ตัดสินใจลาหยุดจากงานหรือโรงเรียน เพื่อมาร่วมเดินขบวนประท้วงในเมืองต่างๆ เช่น กรุงวอร์ซอ และเมืองกดัญสก์ ที่ทางผู้จัดเรียกว่า 'วันจันทร์ทมิฬ' (Black Monday) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์กลุ่มสตรีประท้วงในประเทซไอซ์แลนด์เมื่อปี 1975 ขณะที่มีผู้ชายหลายคนออกมาร่วมประท้วงเช่นกัน โดยส่วนใหญ่แต่งกายในชุดสีดำ และโบกธงสีดำ เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงความกลัวของพวกเธอที่จะเสียสิทธิ์ในการมีทายาทและกลัวความตายที่หญิงหลายคนอาจต้องเผชิญ

นอกจากผู้คนจะออกมาประท้วงแล้ว การประท้วงยังเกิดขึ้นในธุรกิจบางแห่ง เช่น สำนักข่าวเอกชนอย่างสถานีโทรทัศน์ TVN24 ก็ออกอากาศภาพเหตุการณ์การประท้วง ขณะที่ผู้ประกาศข่าวบางคนของพวกเขาก็สวมชุดสีดำ, ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงวอร์ซอก็ปิดทำการเพื่อให้พนักงานหญิงได้เข้าร่วมชุมนุม ส่วนที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองกรากุฟ ไม่มีพนักงานหญิงมาทำงานเลย นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้เหล่าแม่บ้านประท้วงโดยไม่ทำงานบ้านด้วย

ทั้งนี้ โปแลนด์เป็นประเทศคาทอลิกและปกครองโดยรัฐบาลอนุรักษ์นิยม ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งเข้มงวดที่สุดในโลก และผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดก็แสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้มีการเพิ่มความเข้มงวดมากไปกว่านี้

...

ภายใต้กฎหมายปัจจุบันซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 1993 การทำแท้งเป็นเรื่องที่ห้ามกระทำเว้นแต่กรณีที่ ผู้หญิงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต, ทารกในครรภ์มีความเสียหายชนิดเกิดเยียวยา หรือ การตั้งครรภ์เป็นผลมาจากการข่มขืนหรือการมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัว อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ซึ่งรัฐสภากำลังพิจารณาอยู่นี้ จะกำหนดให้การทำแท้งทุกกรณีเป็นเรื่่องผิดกฎหมายทั้งหมดไม่มียกเว้น โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีสำหรับผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งและแพทย์ผู้ลงมือทำแท้ง

การประท้วงเมื่อวันจันทร์เกิดขึ้นหลังจากมีการรณรงค์บนโลกออนไลน์มานานหลายสัปดาห์ภายใต้แฮชแทค '#blackprotest' และ '#czarnyprotest' โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผู้หญิงหลายพันคนออกมาชุมนุมกันที่หน้าอาคารรัฐสภาในกรุงวอร์ซอ เพื่อประท้วงกฎหมายใหม่ดังกล่าวด้วย

อนึ่ง ข้อเสนอเพิ่มความเข้มงวดให้กฎหมายการทำแท้ง มาจากกลุ่มพลเรือนต่อต้านการทำแท้ง ที่สามารถรวบรวมรายชื่อมาลงนามในคำร้องที่จะยื่นให้แก่รัฐบาลได้ถึง 450,000 ชื่อ โดยได้รับการสนับสนุนจากคริสต์จักรคาทอลิกในประเทศ ขณะที่พรรคกฎหมายและความยุติธรรม พรรครัฐบาลสายอนุรักษ์นิยม ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรรวมอยู่ในกลุ่มผู้สนับสนุนข้อเสนอนี้ด้วย