นี่คือผักที่คนไทยร้องยี้ แต่ในญี่ปุ่นขณะนี้เรียกได้ว่ากำลังมาแรงแซงทางโค้ง กับกระแส “ผักชี ฟีเวอร์” ที่อาจไม่ใช่แค่ผักชีโรยหน้า แต่ทว่าคุณค่าและคุณประโยชน์ของมัน แท้จริงแล้วมากมายสารพัด จนกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์สุดฮิตในญี่ปุ่นไปแล้วในขณะนี้ ถึงขั้นที่ร้านอาหารหลายๆ ที่ต่างพยายามคิดค้นเมนูใหม่ๆ โดยใช้ผักชีไทยเป็นส่วนประกอบ เพื่อเรียกแขกเข้าร้านกันเลยทีเดียว...

เรียกว่าฮอตถึงขั้นที่มีวงไอดอลของญี่ปุ่นต้องลุกขึ้นมาทำมิวสิกวิดีโอชื่อเพลงว่า “ผักชีเฮเว่น” ออกมาปลุกกระแสร้องเต้นกันเลยทีเดียว... เพราะฉะนั้นแล้วคนไทยอย่างเราๆ เห็นกระแสนี้แล้วรู้สึกอย่างไร ผักชีไทยที่เรานิยมบริโภคกันมานานเป็นหลายร้อยปี กำลังจะกลายไปเป็นของญี่ปุ่นแล้วหรือไม่? วันนี้ เราในฐานะ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ก็ขอนำเสนอถึงสารพัดสารพันสรรพคุณและคุณประโยชน์ของผักชี ให้พวกคุณๆ ได้ตระหนักถึงคุณค่าและช่วยกันรักษาของดีๆ ไว้ แล้วคุณจะอ้าปากร้องยี้ไม่ออก...

‘ผักชี ฟีเวอร์’ ญี่ปุ่นทึ่งสรรพคุณ ภูมิปัญญา ‘ยาไทย' ที่ยังไร้สิทธิบัตร

...

‘ผักชี ฟีเวอร์’ ญี่ปุ่นทึ่งสรรพคุณ ภูมิปัญญา ‘ยาไทย' ที่ยังไร้สิทธิบัตร
เหตุใดญี่ปุ่นฮิต แห่คิดสารพัดเมนู ‘ผักชี ฟีเวอร์’ เรียกลูกค้า

ผู้สื่อข่าวเริ่มบทสนทนาแรก ยิงคำถามไปด้วยความอยากรู้ว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนในญี่ปุ่นทั่วทุกหย่อมหญ้ารู้จักผักชีไทย จนกลายเป็นกระแสฮิตกระหึ่มเมืองขนาดนี้? ภก.พินิต ชินสร้อย เภสัชกรปฏิบัติการ งานแพทย์แผนไทย รพ.วังน้ำเย็น และคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตอบในข้อสงสัยนี้ว่า เริ่มต้นมาจากคนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เคยมาใช้ชีวิตอยู่เมืองไทย ชื่นชอบอาหารไทย และได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารไทยหลากหลาย แต่สิ่งที่เขาชื่นชอบมากเป็นพิเศษก็คือ ผักชีไทย หลงเสน่ห์ในกลิ่นและรสชาติ จึงกลับไปเปิดร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่น และได้มีการนำผักชีไทยไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารหลากหลาย รวมถึงมีการตกแต่งร้านด้วยผักชี จนกลายเป็นสิ่งแปลกตาและที่สนใจของคนญี่ปุ่นไปโดยปริยาย

“และคงเป็นเพราะว่า ผักชี อาจเป็นพืชผักที่แปลกใหม่สำหรับคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลิ่นและรสชาติที่อาจไม่คุ้นชิน และรู้สึกว่าอยากลอง เมื่อทานเข้าไปก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าร่างกายสดชื่นขึ้น และร่างกายอบอุ่นขึ้นทันที เพราะด้วยสภาพอากาศของญี่ปุ่นถือว่าเป็นเมืองหนาว ซึ่งขณะนี้ต้องบอกว่าญี่ปุ่นฮิตถึงขั้นที่นำผักชีไปประยุกต์ทั้งในการปรุงแต่งอาหารมากมาย อาทิ ราเมน เทมปุระ ทั้งนำผักชีไปใช้ตกแต่งร้านสร้างความแปลกตาเรียกลูกค้า รวมถึงประยุกต์ทำเป็นออนเซ็นผักชีในรูปแบบอโรม่า ฉะนั้นจะเห็นว่าคนญี่ปุ่นจะนำผักชีไปใช้ในเชิงสุขภาพทั้งสิ้น เพราะคนญี่ปุ่นเชื่อว่า ผักชี มีคุณสมบัติช่วยในการขับเหงื่อ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และช่วยระบายท้อง” ภก.พินิต กล่าว

‘ผักชี ฟีเวอร์’ ญี่ปุ่นทึ่งสรรพคุณ ภูมิปัญญา ‘ยาไทย' ที่ยังไร้สิทธิบัตร

ขณะที่ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่ใครหลายคนรู้จักในบทบาท คอลัมนิสต์เว็บไซต์ Marumura เล่าถึงประเด็นของกระแสฮิต 'ผักชี ฟีเวอร์' ในแดนซามูไรว่า คนญี่ปุ่นยุคก่อนๆ แทบจะทานอาหารต่างประเทศไม่เป็นเลย จะคุ้นเคยแต่อาหารพื้นเมืองเท่านั้น แต่พอมาถึงยุคหลังๆ เริ่มมีอาหารต่างประเทศเข้ามาให้ลิ้มรสมากขึ้น และยิ่งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ทำให้มีโอกาสลิ้มรสอาหารชาติต่างๆ โดยเฉพาะอาหารไทยมากขึ้น กระทั่งอาหารไทยเริ่มกลายเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่แกงเขียวหวาน ต้มยำกุ้ง ปูผัดผงกะหรี่ รวมถึงข้าวกะเพราใส่กล่องเบนโตะ เพื่อให้ทานง่ายขึ้น ทำให้คนญี่ปุ่นได้ลิ้มรสอาหารไทยมาเรื่อยๆ จนได้รู้จักกับผักชี

อีกทั้งพื้นเพของคนญี่ปุ่นค่อนข้างใส่ใจเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่พืชสมุนไพรอย่างผักชีจะเริ่มเข้ามาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารของคนญี่ปุ่น โดยเมื่อสองปีที่ผ่านมา มีนิตยสาร รายการทีวี มีการนำเสนอผักชีให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนญี่ปุ่น โดยนำมาปรุงอาหารพร้อมอธิบายถึงสรรพคุณของผักชีว่า ดีต่อสุขภาพ ช่วยในเรื่องดีท็อกซ์ และยังทำให้ผิวสวย ซึ่งพลังของสื่อก็มีอิทธิพลและมีส่วนทำให้ผักชีกลายเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับกรณีของเม็ดแมงลักที่ได้รับความนิยมมาก่อนหน้านี้

“เพราะฉะนั้นแล้ว คนญี่ปุ่นหลายๆ คนก็จะทราบถึงสรรพคุณของผักชี เนื่องจากว่าด้วยนิสัยของคนญี่ปุ่นแล้ว ไม่ว่าจะกินอะไร พ่อแม่ก็จะสอนและอธิบายถึงสรรพคุณของอาหารนั้นๆ เช่น กินน้ำส้มสายชูไปแล้วจะเป็นอย่างไร ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร เช่นเดียวกัน ก็จะมีคำถามว่า ฤดูหนาวต้องทานอะไรเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ฉะนั้น ผักชีก็กลายเป็นสมุนไพรที่ตอบสนองได้ ทำให้คนญี่ปุ่นชอบกินผักชีมาก ถึงขนาดที่ร้านข้าวมันไก่ยังต้องใส่ผักชีให้พูนๆ แต่คนญี่ปุ่นบางคนที่ไม่ชอบทานผักชีเพราะกลิ่นก็มีอยู่” คอลัมนิสต์เว็บไซต์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น กล่าว

...

‘ผักชี ฟีเวอร์’ ญี่ปุ่นทึ่งสรรพคุณ ภูมิปัญญา ‘ยาไทย' ที่ยังไร้สิทธิบัตร
ผักชี+อาหารญี่ปุ่น ผสมผสานของคาว-หวาน อย่างลงตัว

ดร.กฤตินี เล่าอีกว่า การผสมผสานวัตถุดิบระหว่างผักชีกับอาหารญี่ปุ่นนั้น ต้องบอกว่าคนญี่ปุ่นจะเก่งในเรื่องการปรุงอาหารเป็นอย่างมาก โดยมักจะนำผักชีเข้ามาใส่ในยำ หรือนำมาทอดเป็นเทมปุระ และปรุงรสในเมนูหม้อไฟ รวมทั้งนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม เพื่อให้มีกลิ่นหอม หรือแม้แต่ของหวานอย่างไอศกรีมก็ใช้ผักชีมาเป็นส่วนผสมอีกด้วย

“แต่ในญี่ปุ่นเองก็มีที่คล้ายกับผักชี ชื่อว่า ‘ผักมิสึบะ’ โดยใช้โรยบนข้าว หรือเนื้อย่าง เพื่อให้มีกลิ่นหอมและตัดความเลี่ยนของเนื้อ แต่เมื่อคนญี่ปุ่นเริ่มรู้จักผักชี ก็กลายมาเป็นที่นิยมในประเทศอย่างแพร่หลาย จนเปลี่ยนมาใช้ผักชีแทน เพราะคนชอบและมีสรรพคุณในเชิงสุขภาพ” คอลัมนิสต์เว็บไซต์ Marumura กล่าว

ผักชีที่ญี่ปุ่น ราคาสูงลิบ กำละ 60 บาท

ดร.กฤตินี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผักชีที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นขณะนี้นั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะนำเข้ามาจากประเทศไทย ไต้หวัน จีน และเวียดนาม ซึ่งในญี่ปุ่นมีราคาสูงถึง กำละ 180 เยน (กำละ 3-4 ต้น) คิดเป็นเงินไทย ประมาณ 60 บาท

...

‘ผักชี ฟีเวอร์’ ญี่ปุ่นทึ่งสรรพคุณ ภูมิปัญญา ‘ยาไทย' ที่ยังไร้สิทธิบัตร
‘ผักชี ฟีเวอร์’ ญี่ปุ่นทึ่งสรรพคุณ ภูมิปัญญา ‘ยาไทย' ที่ยังไร้สิทธิบัตร
รากเหง้าที่แท้จริงแล้ว ‘ผักชี’ เป็นของใคร? ใช่ของไทยหรือไม่?

มาถึงตรงนี้ ผู้สื่อข่าวเห็นว่าในเมื่อ ‘ผักชีไทย’ ถือว่าเป็นของดีอย่างหนึ่งที่เราควรจะรักษาไว้ เพราะฉะนั้นแล้ว หากเราย้อนกลับไปถึงรากเหง้าว่าจริงๆ แล้ว ผักชีที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร และที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการจดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับผักชีไว้หรือไม่? ภก.พินิต ตอบในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันยังไม่ได้มีการจดลิขสิทธิ์ผักชีในรูปของอาหารและยาไว้ เนื่องจากคุณสมบัติของผักชีก็คือ อาหารและพืชทั่วไป ซึ่งมีอยู่ในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก เพราะฉะนั้นถามว่ารากเหง้าที่แท้จริงแล้ว ผักชีเป็นของใคร มาจากไหนนั้น ไม่มีรายงานไว้เป็นจารึกอักษร ดังนั้น จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าผักชีที่เราบริโภคกันทุกวันนี้ เป็นของไทยหรือไม่ แต่คาดว่าอาจเป็นพืชที่มาจากการค้าขายในสมัยก่อนก็เป็นได้ ซึ่งก็ไม่แปลกที่คนไทยอาจรู้สึกว่าผักชีเป็นของเรา เพราะถือว่าเป็นพืชผักที่คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหารและบริโภคกันมานานหลายร้อยปีแล้ว และเป็นพืชที่บ้านเราสามารถผลิตเองได้อย่างมีคุณภาพด้วย

...

เปิดสารพัดสรรพคุณ ‘ผักชีไทย’ ยารักษาดีๆ นี่เอง...

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักผักชีอย่างถูกต้องมากขึ้น ภก.พินิต อธิบายถึงสรรพคุณและคุณประโยชน์ของผักชีไทยให้ฟังว่า ผักชีที่คนไทยนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยนั้น ในทางวิทยาศาสตร์ จะเรียกว่า ไชนีสพาร์สเลย์ (Chinese Parsley) ซึ่งหากจำแนกถึงสรรพคุณ ในทางแพทย์แผนไทยพบว่า ส่วนของต้นผักชี มีสรรพคุณหลักๆ คือ ช่วยในเรื่องของระบบย่อยอาหาร แต่สำหรับผลผักชี หรือเม็ดผักชี ที่เรามักจะนำมาประกอบอาหารหรือปรุงเป็นเครื่องเทศนั้น ในทางแพทย์แผนไทย พบว่า ผลผักชี มีสรรพคุณช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ขับเหงื่อ ปรับสมดุลของร่างกาย ขับลม ช่วยลดอาการแน่นหน้าอก อาเจียน วิงเวียน และยังพบอีกว่า ผลผักชี มีส่วนช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น และลดน้ำตาลในเลือดได้

ส่วนการศึกษาในทางแพทย์แผนปัจจุบัน ระบุสรรพคุณของผลผักชีอีกว่า มีสรรพคุณช่วยในเรื่องของระบบย่อยอาหาร ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น และกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ซึ่งจะมีส่วนเข้าไปบีบทำให้แก๊สหรืออาหารย่อยให้ไหลลงไปอยู่ทวารหนัก เพื่อให้ถูกขับถ่ายตามปกติ

‘ผักชี ฟีเวอร์’ ญี่ปุ่นทึ่งสรรพคุณ ภูมิปัญญา ‘ยาไทย' ที่ยังไร้สิทธิบัตร

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ส่วนประกอบในผักชี ไม่ว่าจะเป็นผลผักชีหรือต้นผักชีก็ดี ยังมีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย ที่จะมีส่วนช่วยลดอาการปวดเมื่อยและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อได้ ทำให้สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยจากผักชีไปประยุกต์ทำเป็นออนเซ็นหรือรูปแบบของอโรม่าได้ เพียงแต่ปัจจุบันในทางการแพทย์และสาธารณสุขยังไม่มีการทำวิจัยหรือศึกษา รับรองออกมาว่า การใช้ผักชีในเชิงอโรม่านั้น จะได้ผลดีหรือไม่

ภก.พินิต กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ผลผักชี หรือเม็ดผักชี เป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาประกอบในยาตำรับไทยหลายชนิด อาทิ กลุ่มของยาหอม และกลุ่มยาที่ช่วยในระบบการย่อยอาหาร ทั้งยังพบอีกว่า ผลผักชี เป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติช่วยเสริมฤทธิ์ยา ที่เรียกกันว่า กระสายยา เนื่องจากปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ต้องการให้ฤทธิ์ยาดีขึ้นในทางใดทางหนึ่ง เช่น ต้องการให้ฤทธิ์ลดการอาเจียน วิงเวียน เป็นต้น โดยการนำไปต้มน้ำแล้วทานร่วมกับยาตัวนั้นๆ

‘ผลผักชี’ สมุนไพรที่สกัดเป็นยาไทยได้ แต่ไฉนยังไร้สิทธิบัตร?

เมื่อทราบถึงสารพัดสรรพคุณหลากหลายของผักชีแล้วว่า ตำรับยาไทยในปัจจุบันมีการสกัดผลผักชีมาทำเป็นยาด้วย ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่า แล้วปัจจุบันได้มีการนำมาจดเป็นสิทธิบัตรยาไทยไว้หรือไม่? ภก.พินิต ตอบในประเด็นนี้ว่า โดยทั่วไปแล้ว การจดสิทธิบัตรยา มักจะจดในลักษณะของวิธีการสกัด แต่ สำหรับผักชีนั้น ในวงการแพทย์แผนไทยทราบกันเพียงว่ามีการสกัดผลผักชีไปใช้เป็นส่วนประกอบอยู่ในตำรายาไทยเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการจดสิทธิบัตรใดๆ ซึ่งถ้าจะสามารถจดสิทธิบัตรได้ ก็ต้องจดในลักษณะของวิธีและกระบวนการสกัด หรือสรรพคุณที่เกิดขึ้นจากการศึกษาการทดลอง

“โดยหากยกตัวอย่างพืชสมุนไพรไทยที่เคยโดนต่างชาติชิงจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับตัวพืชนั้นยังไม่มี แต่เคยมีกรณีการจดในรูปแบบของวิธีการสกัดเป็นยา กรณีของ ‘เปล้าน้อย’ ไม้ยืนต้นขนาดเล็กของไทย เป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ จนกระทั่ง ญี่ปุ่นได้นำสารสกัดจากเปล้าน้อยไปจดทะเบียนกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ภายใต้ชื่อ เปลาโนทอล (Plaunotol) ก่อนที่จะผลิตยาจากเปล้าน้อยออกจำหน่ายอย่างแพร่หลาย” เภสัชกรปฏิบัติการ งานแพทย์แผนไทย รพ.วังน้ำเย็น กล่าว

นอกจาก นี้ ภก.พินิต ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันผักหรือสมุนไพรไทยที่ต่างชาติให้การยอมรับและชื่นชอบเป็นพิเศษก็จะเป็นกลุ่มสมุนไพรที่ใช้เป็นเครื่องปรุงในอาหารประเภทต้มยำ เช่น ขมิ้น ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า เป็นต้น สมุนไพรเหล่านี้ มีน้ำมันระเหยเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดมะเร็งได้ ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกสมุนไพรเหล่านี้ในรูปแบบของแห้ง ทั้งในทางยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น จะมีการดัดแปลงเป็นพืชอินทรีย์มีคุณภาพดี และยอมซื้อในราคาแพง ซึ่งเป็นรายได้ของเกษตรกรกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งเลยก็ว่าได้ แต่ถามว่ากรณีนี้ถือเป็นการแย่งของดีบ้านเราไปหรือไม่ ขอใช้คำว่ามีการยอมรับในวงกว้าง ในหลายๆ ประเทศ ฉะนั้น ผักชีก็อาจจะเป็นกรณีเดียวกันนี้...

‘ผักชี ฟีเวอร์’ ญี่ปุ่นทึ่งสรรพคุณ ภูมิปัญญา ‘ยาไทย' ที่ยังไร้สิทธิบัตร
เป็นไปได้ไหม? หากญี่ปุ่นอาจลุกขึ้นมาปลูก ‘ผักชี’ เอง

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า ในญี่ปุ่นสามารถปลูกพืชสมุนไพรอย่างผักชีได้หรือไม่? ภก.พินิต ตอบข้อสงสัยนี้ว่า โดยทั่วไปพืชกลุ่มนี้สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกฤดู และสามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกประเภท แต่ทั้งนี้ ผักชี เป็นพืชที่อวบน้ำ ก็จะต้องมีข้อระวังคือ 1. ปริมาณน้ำต้องเพียงพอ และ 2. ต้องไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะหากฝนตกหนักมากต้นผักชีก็จะช้ำได้ ฉะนั้นในบ้านเราจะปลูกต้นผักชีได้ดีในช่วงฤดูหนาว ซึ่งถามว่าในญี่ปุ่นสามารถปลูกได้หรือไม่ ก็อาจจะได้ แต่อาจมีปัญหาเรื่องของน้ำที่แห้งแล้งและสภาพอากาศ ซึ่งคาดว่าปลูกได้ไม่มีประสิทธิผลดีเท่ากับปลูกในบ้านเรา

ฉะนั้นแล้ว... ไม่ว่ารากเหง้าที่แท้จริงของ 'ผักชี' เป็นของใคร มาจากไหน นั่นคงไม่สำคัญไปกว่า...วันนี้...ไทยเรามีพืชสมุนไพรดีๆ อยู่ใกล้ตัว สามารถปลูกเองได้ ผลิตเองได้ และที่สำคัญคือ ผลิตได้อย่างมีคุณภาพด้วย ดังนั้น อยากให้ตระหนักและเห็นค่าสักนิด ก่อนคิดเขี่ยทิ้ง...

ขอบคุณภาพประกอบจาก : https://retrip.jp/articles/28983/

และภาพจากมิวสิกวิดีโอ [MV] 10jinactor - ผักชีเฮเว่น

‘ผักชี ฟีเวอร์’ ญี่ปุ่นทึ่งสรรพคุณ ภูมิปัญญา ‘ยาไทย' ที่ยังไร้สิทธิบัตร
  • สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
    

reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ