(ภาพ: AP)

ทีมแพทย์สหรัฐฯ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายแก่คนไข้เป็นครั้งแรกของประเทศแล้ว และเตรียมนำความรู้นี้ไปต่อยอดเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อ...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะแพทย์ของโรงพยาบาล แมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล ในเมืองบอสตัน ออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายของผู้อื่นแก่คนไข้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และระบุว่านี่เป็นก้าวสำคัญในวงการศัลยกรรม

ทีมแพทย์ของโรงพยาบาล แมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล ซึ่งประกอบด้วยศัลยแพทย์และพยาบาลกว่า 50 คน ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพศให้แก่นาย โธมัส แมนนิง ชาวเมืองฮาลิแฟกซ์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ อายุ 64 ปี ผู้ซึ่งถูกตัดอวัยวะเพศไปในปี 2012 หลังได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งองคชาต โดยใช้เวลานานถึง 15 ชั่วโมง

ทางโรงพยาบาลระบุว่า กระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะเพศในครั้งนี้มีชื่อเรียกว่า 'gentitourinary vascularized composite allograft' หรือ 'GUVCA' ซึ่งใช้วิธีผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ ปลูกถ่ายโครงสร้างหลอดเลือดและเส้นประสาทอันซับซ้อนจากองคชาตของผู้บริจาคเข้ากับผู้รับการผ่าตัด

ดร. ดิกเคน โค ผู้อำนวยการแผนกทางเดินปัสสาวะของโรงพยาบาล แมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล กล่าวว่า เป้าหมายอันดับหนึ่งของการผ่าตัดครั้งนี้คือการสร้างอวัยวะเพศให้ดูเป็นธรรมชาติ ตามด้วยระบบการขับถ่ายปัสสาวะและการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม แม้การปลูกถ่ายอวัยวะให้สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้จะเป็นเป้าหมาย แต่ไม่สามารถสืบพันธ์ุได้ เนื่องจากความกังวลด้านจริยธรรมว่าใครจะเป็นพ่อเด็กกันแน่

...

ทั้งนี้ นายแมนนิงกำลังอยู่ระหว่างการพักฟื้นจากการผ่าตัด โดยไม่มีสัญญาณว่ามีเลือดออก, ปฏิกิริยาต่อต้าน หรือการติดเชื้อ ทำให้เขาอาจสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 3-4 วันข้างหน้า และทีมแพทย์หวังว่าอวัยวะเพศของเขาจะกลับไปใช้งานได้อีกครั้ง

ขณะที่นายแมนนิงระบุในแถลงการณ์ซึ่งเปิดเผยโดยโรงพยาบาล แมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล "วันนี้ ผมเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิตที่เต็มไปด้วยความหวังทั้งส่วนบุคคล และความหวังของคนอื่นๆที่ทุกข์ทรมาณกับการเจ็บป่วยที่อวัยวะเพศ โดยเฉพาะทหารซึ่งทำงานโดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน และผลที่ตามมาคือได้รับบาดเจ็บหนัก" นายแมนนิงยังแสดงความขอบคุณต่อครอบครัว, ทีมแพทย์ รวมทั้งครอบครัวของผู้บริจาคอวัยวะแก่เขาด้วย

ด้านดร. เคอร์ติส แอล.เซทรูโล ศัลยแพทย์พลาสติกและตกแต่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำทีมผ่าตัดนายแมนนิงร่วมกับดร.โค กล่าวว่า "เราหวังวาเทคนิคการตกแต่งนี้จะทำให้รเราสามารถปลูกถ่ายอวัยวะแก่ผู้ที่เจ็บปวดและสิ้นหวังจากการบาดเจ็บที่อวัยวะเพศ ซึ่งบ่อยครั้งที่ทำให้พวกเขาคิดจบชีวิตตัวเอง" ดร.เซทรูโลและดร.โคยังหวังว่าจะต่อยอดกระบวนการนี้ไปช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ หรือใช้ในการผ่าตัดแปลงเพศด้วย

แต่ดร.เซทรูโลชี้ว่า ยังต้องมีการศึกาาเกี่ยวกับกระบวนการนี้อีกมากว่า ทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน เพราะทุกรายมีความแตกต่างกัน

อนึ่ง นายแมนนิงจะต้องรับยากดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไปตลอดชีวิต เพื่อลดโอกาสเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน แต่ดร.เซทรูโลระบุว่า ยาตัวนี้อาจช่วยในการงอกใหม่ของเส้นประสาท