น่านน้ำโซมาเลีย ชายฝั่งตะวันออกทวีปแอฟริกาเป็นข่าวครึกโครมตลอดหลายปีก่อนจากปัญหาโจรสลัดจี้ปล้นจับตัวประกันเรียกค่าไถ่วุ่นวายเดือดร้อนถ้วนทั่ว
สถานการณ์ทุเลาลงเรื่อยๆหลังเกิดความร่วมมือแก้ปัญหาอย่างแข็งขันจากนานาประเทศร่วมภารกิจส่งเรือรบลาดตระเวนน่านน้ำ บ้างจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยส่งเจ้าหน้าที่ติดอาวุธคุ้มกันเรือ ขณะที่โซมาเลียยังเป็นดินแดนไร้ขื่อแป รัฐบาลกลางยังควบคุมบริหารประเทศได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ปลายสัปดาห์ที่แล้ว หัวหน้ารัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงอินโดนีเซีย “ลูฮุต ปันด์ไจตัน” แถลงระบุน่านน้ำภาคใต้ฟิลิปปินส์ พรมแดนอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ หวั่นว่ากำลังกลายเป็น “นิว โซมาเลีย” หรือน่านน้ำอันตรายจากกลุ่มโจรปล้นจี้เรือจับตัวประกันเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุด ลูกเรือชักลากชาวอินโดนีเซียถูกโจรสลัดจับกุมตัวเรียกค่าไถ่อยู่มากกว่า 18 คน กลุ่มติดอาวุธอาบู ไซยาฟ กองกำลังอิสลามิกหัวรุนแรงที่อ้างตัวเป็นพันธมิตรกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอสในอิรักและซีเรีย ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ทางภาคใต้ฟิลิปปินส์ อ้างอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการจี้จับตัวประกัน ขอเงินค่าไถ่ตัว 50 ล้านเปโซ หรือราว 40 ล้านบาท
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางทะเลแนะรัฐบาลอินโดนีเซียอย่าโอนอ่อนยอมจ่ายเงินค่าไถ่ หาไม่แล้วนั่นคือการเปิดประตูน้ำให้สถานการณ์จี้จับตัวประกันในพื้นที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้น่านน้ำภาคใต้ฟิลิปปินส์กลายเป็นดินแดน “นิว โซมาเลีย” เร็วขึ้น ขณะที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ช่วยอะไรแทบไม่ได้
ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยด้านการเดินเรือประจำปี 2559 ของกลุ่มบริษัทประกันภัยชั้นนำของโลก ชี้ว่า น่านน้ำแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดคดีโจรสลัดบุกจี้มากที่สุดของโลกถึงราว 60 เปอร์เซ็นต์ น่านน้ำอันตรายที่สุดของโลกคือ แถบอินโดนีเซีย
...
เฉพาะเหตุโจรสลัดจี้ปล้นเรือแถบน่านน้ำนอกชายฝั่งเวียดนามช่วงปีที่แล้ว เพิ่มสูงขึ้นถึง 288 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับเมื่อช่วงปี 2557 นั่นทำให้ภาพ “นิว โซมาเลีย” ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลอีกฝ่ายมองว่า น่านน้ำภาคใต้ฟิลิปปินส์และแถบอินโดนีเซีย สถานการณ์ยังไม่เหมือนน่านน้ำโซมาเลีย เพราะโจรสลัดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านมามักใช้วิธีจี้ปล้นแล้วหนี แต่โจรสลัดโซมาเลียมักยึดทั้งเรือและจับตัวประกันไว้นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เพื่อต่อรองค่าไถ่จนถึงที่สุด
ไม่ว่าโจรสลัดใช้วิธีการใดๆ ก็ส่งผลถึงความมั่นคงในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก เพราะช่องทางเดินเรือแถบนี้เป็นเส้นทางการค้าสำคัญกว่า 1 ใน 3 ของโลก
ความพยายามเจรจาหาความร่วมมือกันของ 3 ชาติในภูมิภาคคืออินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ที่กรุงจาการ์ตา วันที่ 3 พ.ค.นี้ น่าติดตามดูว่าจะได้ข้อสรุปทางออกอย่างไร....
อานุภาพ เงินกระแชง