(จอห์น แคร์รี รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯอุ้มหลานสาว ขณะลงนามในข้อตกลปารีส)

รบ.175 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งจีนและสหรัฐฯ ร่วมลงนามใน ‘ข้อตกลงปารีส’ ผนึกกำลังลดปัญหาภาวะโลกร้อน ขณะที่บัน คี มุน เลขาฯ ยูเอ็น ชี้ ‘พวกเราต้องแข่งกับเวลา’ เพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ตัวแทนรัฐบาล 175 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสองประเทศที่ปล่อยก๊าซก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ เมื่อ 22 เม.ย. ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลกพอดี โดยข้อตกลงปารีส ถือเป็นพันธสัญญาระหว่างประเทศร่วมกันฉบับใหม่ ที่นานาประเทศจะร่วมแรงร่วมใจกันลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก อันนำไปสู่ภาวะโลกร้อน สภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างน่าวิตก

ด้าน นายบัน คี มุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมว่า ข้อตกลงปารีสจะเปลี่ยนชีวิตของคนรุ่นต่อไปในภายภาคหน้าทั้งหมดโดยมีอนาคตของพวกเขาเป็นเครื่องเดิมพัน โดยเลขาฯ ยูเอ็นยังชี้ว่า ขณะนี้พวกเราต้องแข่งกับเวลา จึงขอเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมลงนามในข้อตกลงปารีส เพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป

...

บีบีซี รายงานว่า สำหรับข้อตกลงปารีสนั้น มีประมาณ 15 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศเกาะเล็กๆ ได้ให้สัตยาบัน หรือการยืนยันรับรองข้อตกลงปารีสเรียบร้อยแล้ว ขณะที่มีอีกประมาณ 55 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงจะต้องมีการดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 คือผู้นำหรือตัวแทนของแต่ละประเทศต้องกลับไปให้รัฐบาลชาติตนให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงนี้ก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี  และจากนั้นข้อตกลงปารีสจะมีผลบังคับใช้ทันที โดย55 ประเทศจะต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 55% ขณะที่ ภายใต้ข้อตกลงมีเป้าหมายลดภาวะโลกร้อน  ภายในปี 2563 อุณหภูมิโลกจะต้องสูงขึ้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส.