(ภาพ: REUTERS)

จากกรณีโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวเอกวาดอร์ 7.8 แมกนิจูด วันที่ 17 เม.ย. ที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเหลือคณานับ คิดมูลค่าการฟื้นฟูอาจสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 105,000 ล้านบาทนั้น เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายราฟาเอล คอร์เรีย ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ได้ออกแถลงการณ์ถึงแผนรับมือค่าใช้จ่ายมูลค่ามหาศาล ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีเพิ่ม และการเก็บเงินจากประชาชนผู้มีรายได้

ทั้งนี้ นายคอร์เรีย ที่อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ภัยพิบัติ พร้อมช่วยแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย ในจังหวัดเอสเมอรัลดาส ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ด้วยเหตุที่ค่าฟื้นฟูประเทศมีมูลค่าสูงมาก ทางรัฐบาลจึงมีแผนการที่จะจัดเก็บภาษีเพิ่ม จาก 12 เปอร์เซ็นต์ เป็น 14 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเก็บเงินประชาชนผู้มีรายได้ โดยผู้มีรายได้ 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือน จะต้องให้เงินช่วยเหลือราว 33 ดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับรายได้ใน 1 วัน

ผู้มีรายได้ 2,000 ดอลลาร์ต่อเดือน จะต้องให้เงินช่วยเหลือราว 66 ดอลลาร์ เป็นเวลา 2 เดือน หรือรวมแล้ว 132 ดอลลาร์ ส่วนผู้มีรายได้ 5,000 ดอลลาร์ต่อเดือน จะต้องช่วยเหลือราว 166 ดอลลาร์ เป็นเวลา 5 เดือน หรือรวมแล้ว 830 ดอลลาร์ ขณะที่ผู้มีทรัพย์สินรวมมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ จะต้องช่วยเหลือเงินจำนวน 0.9 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สิน อย่างมี 1 ล้านดอลลาร์ ก็ต้องช่วย 9,000 ดอลลาร์ มี 2 ล้านดอลลาร์ ช่วย 18,000 ดอลลาร์ แต่จ่ายครั้งเดียวจบ นอกจากนี้ ทางการเตรียมที่จะขายทรัพย์สินของรัฐบางส่วน เพื่อนำมาเจือจุนด้วย

...

สำหรับความคืบหน้าในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทางการเปิดเผยว่าโอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตเริ่มน้อยลงไปทุกขณะ ส่วนยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 525 คน และอาจเพิ่มขึ้น บาดเจ็บ 5,737 คน สูญหายอย่างน้อย 163 คน แต่มิได้ชี้แจงการเปิดเผยของกระทรวงมหาดไทยเอกวาดอร์ก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่าอาจมีผู้สูญหายมากถึง 1,700 คน

วันเดียวกัน นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่ากระทรวงการต่างประเทศอนุมัติเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือแก่รัฐบาลสาธารณรัฐเอกวาดอร์ จำนวน 1 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 3.5 ล้านบาท เพื่อบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย โดยจะมอบหมายให้เอกอัครราชทูตกรุงลิมา เปรู ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมสาธารณรัฐเอกวาดอร์ เป็นผู้แทนในการมอบเงินบริจาคให้ผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐเอกวาดอร์ต่อไป.