ปะการังฟอกขาวที่เกาะลิซาร์ด ถ่ายในเดือน มี.ค. 2016 (ภาพ: XL Catlin Seaview Survey)

ปะการังทั่วโลกกำลังเผชิญการฟอกขาวครั้งใหญ่ เป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ และเป็นครั้งที่ยาวนานที่สุด อันเป็นผลจากการที่น้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น เพราะมหาสมุทรดูดความร้อนจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศไว้ถึง 93% จนปะการังไม่อาจปรับตัวกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ และหากปะการังถูกทำลายมากๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธ์ุ และในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์หลายร้อยล้านคนด้วย

หลายองค์กรทั่วโลกรวมทั้ง XL Catlin Seaview Survey พยายามตรวจสอบสถานการณ์การฟอกขาวของปะการัง และรณรงค์ให้รัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงปัญหา ที่หากทุกคนไม่ร่วมมือกันก็ไม่สามารถแก้ไขได้นี้

การฟอกขาวของปะการังคืออะไร

การฟอกขาวของปะการัง คือการที่ปะการังขับสาหร่ายเซลล์เดียวสีน้ำตาลชื่อว่า ซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ซึ่งเติบโตและคอยสังเคราะห์แสงและสร้างสีสันอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อไม่ให้ถูกแดดเผา แต่เมื่อปะการังสัมผัสกับอุณหภูมิที่อุ่นกว่าปกติ หรือถูกแสงอาทิตย์เป็นเวลานาน (ตามปกติคือนานกว่า 4-6 สัปดาห์) จะทำให้เกิดความเครียดจนสาหร่ายตัวนี้ผลิตออกซิเจนมากเกินไปจนกลายเป็นพิษ ปะการังจึงต้องปรับตัวด้วยการจับสาหร่ายออกไป

...

ปะการังที่สูญเสียผู้สร้างสีสันอย่างสาหร่ายซูแซนเทลลี จะมีสีซีดลงจนกระทั่งเหลือเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เผยให้เห็นสีขาวของหินปูนซึ่งเป็นโครงสร้างของปะการัง และตายลงในที่สุด

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวกลายเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปตามแนวปะการังต่างๆ ทั่วโลกไปแล้ว โดยเป็นผลโดยตรงจากการที่อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น และในทุกวันนี้จะมีรายงานการการเกิดปะการังฟอกขาวในวงจำกัดเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน แต่การฟอกขาวเป็นวงกว้างทั่วโลกนั้นมักเกิดขึ้นควบคู่กับความผันแปรของธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนผิวทะเลที่ตอนนี้อุ่นขึ้น เพราะภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ฟอกขาวเป็นวงกว้าง ตัวการหลักคือเอลนีโญ

การฟอกขาวเป็นวงกว้างของแนวปะการัง เป็นปรากฏการณ์ที่ระบบปะการังทั้งระบบในพื้นที่นั้นๆ เกิดการฟอกขาว ปรากฏการณ์นี้ถูกบันทึกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1979 และเชื่อกันว่านี่เป็นช่วงที่อุณหภูมิที่สูงขึ้นระยะสั้นที่เกิดพร้อมกับปรากฏการณ์เอลนีโญ เริ่มสูงเกินกว่าที่ปะการังจะรับไหว

การฟอกขาวเป็นวงกว้างสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ระบบแนวปะการัง ทำให้แนวปะการังที่สมบูรณ์เปลี่ยนเป็นสภาพเสียหายหนักในเวลาไม่กี่เดือน และต้องใช้เวลาหลายทศวรรษเพื่อพื้นฟูกลับเป็นปกติ โดยหมู่เกาะกาลาปากอส เป็นสถานที่แรกๆ ที่ได้รับการบันทึกว่าเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นเมื่อปี 1982 โดยแนวปะการังของเกาะสูญเสียปะการังไปมากกว่า 95%

สาเหตุที่ทำให้เกิดการฟอกขาวเป็นวงกว้างของปะการังบ่อยขึ้นในปัจจุบันคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและเอลนีโญ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิในพื้นที่ส่วนใหญ่ของมหาสมุทรทั่วโลกสูงกว่าปกติ สร้างความเครียดอย่างมากต่อแนวปะการัง และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การฟอกขาวเป็นวงกว้างของปะการังทั่วโลก จะเกิดขึ้นในปีที่เกิดเอลนีโญเท่านั้น

เช่น การฟอกขาวเป็นวงกว้างของปะการังทั่วโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1998 โดยเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงทำลายแนวปะการังทั่วโลกไป 16% ขณะที่การฟอกขาวทั่วโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2010 ก็มีสาเหตุมาจากเอลนีโญเช่นกัน

แต่ทว่า ระดับอุณหภูมิของมหาสมุทรในยุคปัจจุบัน เริ่มสูงพอที่ทำให้เกิดฟอกขาวเป็นวงกว้างขึ้นทุกปี และตอนนี้ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้น ก่อนที่การฟอกขาวครั้งใหญ่ของปะการังทั่วโลกจะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีเอลนีโญ

...

การฟอกขาวของปะการังเป็นวงกว้างทั่วโลก ครั้งที่ 3

อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น แนวปะการังทั่วโลกกำลังเผชิญกับการฟอกขาวเป็นวงกว้างครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ โดยสำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) ออกประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2015 แต่การฟอกขาวเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว หมายความว่านี่เป็นการฟอกขาวของปะการังทั่วโลกที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา

ตามรายงานของ NOAA การฟอกขาวทั่วโลกครั้งที่ 3 เริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูร้อนของสหรัฐฯ (มิ.ย.) ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ก่อนขยายไปยังแปซิฟิกใต้ และมหาสมุทรอินเดียในปี 2015 ตอนนี้ปะการัง 95% ของสหรัฐฯ สัมผัสกับน้ำทะเลที่สามารถทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวได้แล้ว

นักวิทยาศาสตร์ยังคาดการณ์ด้วยว่า การฟอกขาวครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อแนวปะการังทั่วโลกราว 38% ภายในสิ้นปี 2015 และฆ่าแนวปะการังกินพื้นที่กว่า 12,000 ตร.กม.

เหยื่อรายล่าสุด แนวปะการัง เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ

เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ เป็นแนวปะการังยาวนับ 1,000 กม. ตั้งอยู่ตลอดแนวชาวฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ถูกยกเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก ประกอบด้วยแนวปะการังกว่า 3,000 แห่ง และเป็นที่อยู่ของปลากว่า 1,500 สายพันธ์ุ

...

แนวปะการังแห่งนี้เคยเผชิญกับการฟอกขาวมาแล้วหลายครั้ง เช่นในปี 1998 และมีปี 2002 มีปะการังได้รับผลกระทบถึง 50% และ 60% ตามลำดับ และมีปะการังที่ตายเพราะการฟอกขาวราว 5-10% เท่านั้น แต่การฟอกขาวครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี 2006 ที่หมู่เกาะเคปเปล ตอนใต้สุดของแนวปะการัง เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ มีปะการังตายประมาณ 30%-40%

อย่างไรก็ตามถึงแม้ เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ จะรอดพ้นไม่ได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวเป็นวงกว้างทั่วโลกครั้งที่ 2 ในปี 2010 แต่สถานที่แห่งนี้ก็ตกเป็นเหยื่อการฟอกขาวทั่วโลกครั้งล่าสุดนี้จนได้ เพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลโดยรอบ เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ เพิ่มสูงขึ้นจนทำลายสถิตินับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2015 อันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่แผ่อิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกแยู่ ณ ขณะนี้

ศาสตราจารย์ เทอร์รี ฮิวจ์ส จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก และสมาชิกทีมเฉพาะกิจเพื่อรับมือการฟอกขาวของปะการังในออสเตรเลียเปิดเผยว่า พวกเขาได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ออกสำรวจแนวปะการังต่างๆ ไล่ตั้งแต่เมืองแคนส์ บริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศไปทางเหนือจนถึงปาปัวนิวกินี พบกว่า 95% จากแนวปะการังที่สำรวจทั้งหมด 520 แห่ง เกิดการฟอกขาว มีแนวปะการังเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่ยังสมบูรณ์ดี

พวกเขายังไม่ได้สำรวจในพื้นที่ทางใต้ของเมืองแคนส์ แต่พื้นที่ตอนใต้ของเกรต แบร์ริเออร์ รีฟ มักได้รับความเสียหายจาการท่องเที่ยว, มลภาวะและการรุกรานจากสัตว์ต่างถิ่น ตรงข้ามกับพื้นที่ตอนเหนือที่บริสุทธิ์กว่า เพราะอยู่ห่างจากกิจกรรมของมนุษย์ การฟอกขาวในพื้นที่ส่วนเหนือของแนวปะการังแห่งนี้จึงสร้างความตกตะลึงแก่นักวิทยาศาสตร์อย่างมาก

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า ที่เป็นการฟอกขาวครั้งร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นใน เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าปะการังเหล่านี้จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้หรือไม่

...

ผลกระทบจากการฟอกขาว

แนวปะการังก็เปรียบได้กับโอเอซิสในทะเลทราย มันเป็นทั้งแหล่งอาหารและที่หลบภัยแก่สิ่งมีชีวิตในทะเลมากมาย แม้ว่าจำนวนแนวปะการังทั่วโลกจะมีขนาดไม่ถึง 0.1% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่มีสายพันธ์ุของสิ่งมีชีวิตในทะเลถึง 25% ที่ต้องพึ่งพาพวกมัน

การสูญเสียแนวปะการังจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ รวมไปถึงแหล่งอาหารท้องถิ่น การทำประมง และการใช้ชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ที่พึ่งพาการทำประมงและสัตว์ทะเลตามแนวปะการัง นอกจากนี้ หากแนวปะการังถูกทำลายจะทำให้ปราการธรรมชาติที่คอยป้องกันพายุตามแนวชายฝั่งหายไป

ในขณะที่ ปะการังสามารถฟื้นตัวจากการฟอกขาวได้เมื่ออุณหภูมิของทะเลกลับสู่ภาวะปกติ แต่การฟื้นตัวต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งปัญหาใหญ่คือ มันจะมีโอกาสได้ฟื้นตัวหรือไม่ เพราะผลจากภาวะโลกร้อนและเอลนีโญทำให้ปรากฏการณ์ฟอกขาวเกิดบ่อยขึ้น ที่ร้ายกว่านั้นคือ มนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น ทำให้ปะการังฟอกขาวง่ายขึ้น แม้น้ำทะเลจะมีอุณหภูมิไม่สูง

สิ่งที่ออสเตรเลียและรัฐบาลอื่นๆ สามารถทำได้คือ การเพิ่มภูมิต้านทานการฟอกขาวให้แก่ปะการัง เช่น การลดการปล่อยน้ำเสียลงทะเล, เลี่ยงการจับปลาที่กินพืชเป็นอาหาร, เลี่ยงการทำลายแนวปะการังโดยเรือหรือการก่อสร้าง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงไปกว่านี้