ปิดถนน-ชาวชาฏตะโกนคำขวัญปลุกใจ ขณะชุมนุมปิดกั้นถนนหลวงแห่งชาติระหว่างรัฐหรยาณาและรัฐเดลี เพื่อกดดันให้รัฐบาลอินเดียจัดสรรโควตางานราชการและที่นั่งในสถานศึกษาให้พวกตนมากขึ้น เช่นเดียวกับพวกวรรณะต่ำกว่าอื่นๆ (รอยเตอร์)
ปัญหาสืบเนื่องจากการแบ่งชนชั้นวรรณะในอินเดียปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อชาว “ชาฏ” (Jat) ในรัฐหรยาณา ทางภาคเหนือ ใกล้กรุงนิวเดลี ก่อจลาจลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 19 คน บาดเจ็บหลายร้อยคน
นอกจากปิดกั้นถนนและรางรถไฟ ผู้ประท้วงยังทำลายคลอง “มูนัค” ที่ใช้ผลิตน้ำประปาป้อนเมืองหลวงกว่า 60% ทำให้ประชาชนกว่า 10 ล้านคน หรือราว 3 ใน 4 ของประชากรกรุงนิวเดลีไม่มีน้ำใช้
ระบบวรรณะเกิดจากพวก “อริยะ” หรือ “อารยัน” เข้าไปรุกราน และทำสงครามกับชนพื้นเมืองเจ้าของถิ่นเดิมในอินเดีย ซึ่งเรียกว่าพวก “มิลักขะ” (หรือทัสสยุ หรือทราวิฑ) ในยุคโบราณ เมื่อพวกอริยะชนะสงคราม จึงใช้ศาสนาพราหมณ์เป็นเครื่องมือในการแบ่งวรรณะเป็น 4 วรรณะ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง โดยถือว่าแต่ละวรรณะเกิดจากอวัยวะของพระพรหมที่แตกต่างกันและมีหน้าที่ต่างกัน คือ
1. วรรณะพราหมณ์ เกิดจากพระโอษฐ์ของพระพรหม มีเครื่องแต่งกายสีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ มีหน้าที่สวดมนต์ ให้คำปรึกษากับกษัตริย์ พวกที่เป็นนักบวชก็ทำหน้าที่สอนไตรเพทและประกอบพิธีทางศาสนา
2. วรรณะกษัตริย์ เกิดจากพระอุระของพระพรหม ถือว่าสืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์ มีเครื่องแต่งกายสีแดง หมายถึงนักรบ ทำหน้าที่สู้รบ ป้องกันหรือขยายอาณาจักร ปกครองบ้าน เมือง และเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
3. วรรณะแพศย์ เกิดจากพระเพลาของพระพรหม มีเครื่องแต่งกายสีเหลือง เป็นพวกแสวงหาทรัพย์สมบัติ ได้แก่ พวกพ่อค้า คหบดี เศรษฐี และเกษตรกร
...
4. วรรณะศูทร เกิดจากพระบาทของพระพรหม มีเครื่องแต่งกายสีดำหรือสีอื่นๆที่ไม่ สดใส มีหน้าที่เป็นกรรมกร ลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน
ต่อมามี “วรรณะที่ 5” เกิดขึ้น คือ “จัณฑาล” หรือ “ดาลิต” ถือเป็นวรรณะต่ำสุด เป็น พวกลูกที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะสมสู่กัน ถูกรังเกียจเหยียดหยาม คนวรรณะอื่นไม่คบค้าสมาคมด้วย
แม้อินเดียจะยกเลิกระบบวรรณะอย่างเป็นทางการนานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ การแบ่งแยกวรรณะยังมีอยู่แพร่หลาย โดยเฉพาะในชนบทด้อยความเจริญ คนวรรณะต่ำยังถูกรังเกียจกีดกัน เช่น ห้ามเข้าวัด ห้ามใช้บ่อน้ำหรือถนนร่วมกับคนวรรณะสูงกว่า
ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเศรษฐกิจอินเดียพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่ประชากรนับร้อยล้านคน โดย เฉพาะในเขตชนบทด้อยพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็น คนวรรณะต่ำ ยังมีรายได้ไม่ถึงวันละ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (45 บาท)
รัฐบาลจึงพยายามช่วยพวกคนชายขอบและผู้ยากจนที่สุดเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งจัดสรร “โควตา” ตำแหน่งงานราชการและที่นั่งในมหาวิทยาลัยให้พวกจัณฑาล และกลุ่มที่เรียกว่า “วรรณะล้าหลังอื่นๆ” (Other Backward Castes) หรือ “โอบีซี” เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแบ่งชนชั้นวรรณะมาหลายร้อยปี
นั่นเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การก่อจลาจลของชาว “ชาฏ” ในครั้งนี้!
เดิมทีชาวชาฏเป็นพวกเกษตรกรและเจ้าของที่ดิน ฐานะค่อนข้างร่ำรวย ได้ชื่อว่าเป็นพวกวรรณะสูง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐหรยาณาและรัฐอื่นๆ อีก 7 รัฐทางภาคเหนืออินเดีย รวมทั้งรัฐปันจาบ เดลี ราชาสถาน อุตระประเทศ ไปจนถึงรัฐสินธุและปันจาบในปากีสถาน
เฉพาะภาคเหนืออินเดียมีชาวชาฏกว่า 80 ล้านคน มีทั้งที่นับถือศาสนาฮินดู ซิกข์ และอิสลาม โดยรัฐหรยาณามีชาวชาฏเป็นชนส่วนใหญ่เกือบ 8 ล้านคน หรือกว่า 25% ของประชากรทั้งหมด ชาวชาฏยังครองที่นั่งถึง 1 ใน 3 ในรัฐสภาหรยาณา มีรัฐมนตรีถึง 7 คนในทั้งหมด 10 คนในสภาท้องถิ่น
อดีตนายกรัฐมนตรีชอดารี ชารัญ ซิงห์ ซึ่ง กุมอำนาจช่วง 28 ก.ค. 2522-14 ม.ค. 2523 ก็เป็นนายกฯที่เป็นชาวชาฏคนแรกของอินเดียชาวชาฏจึงมีอำนาจอิทธิพลไม่ธรรมดา
แต่ช่วงหลังๆ ชีวิตของชาวชาฏแย่ลงๆ เพราะรายได้จากเกษตรกรรมตกต่ำและเกิดภัยแล้งต่อเนื่อง ชาวชาฏมากมายต้องขายที่ดินหรือแบ่งให้ลูกหลานไปขายกิน และละทิ้งอาชีพเกษตรกร หันไปหางานทำในเมือง แต่งานภาค เอกชนก็หายากยิ่ง ชาวชาฏจึงรู้สึกว่าอนาคตของพวกตนและลูกหลานมืดมน
เมื่อเดือน มี.ค. 2557 รัฐบาลกลางอินเดียซึ่งมีพรรคคองเกรสเป็นแกนนำจึงประกาศจะจัดให้ชาวชาฏอยู่ในกลุ่ม “โอบีซี” ซึ่งจะทำให้ได้รับ โควตางานราชการและที่นั่งในมหาวิทยาลัยด้วย แต่แล้วในปี 2558 ศาลสูงอินเดียกลับตัดสินว่าชาวชาฏไม่เข้าข่ายอยู่ในกลุ่ม “โอบีซี” ชาวชาฏ จึงไม่พอใจ เพราะเห็นว่าทำให้พวกตนเสียเปรียบ จึงเรียกร้องขอให้บรรจุพวกตนอยู่ในกลุ่มโอบีซีอีก แต่รัฐบาลไม่ยอม อ้างว่าศาลสูงตัดสินแล้ว การประท้วงจึงบานปลาย!
เหตุรุนแรงคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยชาว “ปาเตล” (Patel) ซึ่งเป็นพวกพ่อค้าและเกษตรกร ที่เป็นคนวรรณะสูงฐานะดี ก่อจลาจลที่รัฐคุชราต เรียกร้องขอให้บรรจุพวกตนอยู่ในกลุ่ม “โอบีซี” บ้าง เพื่อจะได้รับโควตาพิเศษนี้ด้วย และต่อมาชาว “คาปู” ในรัฐอานธรประเทศก็ก่อหวอดประท้วงขออยู่ใน “โอบีซี” เช่นกัน
...
การจลาจลที่รัฐหรยาณายุติลงได้ หลังรัฐบาลสัญญาว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของชาวชาฏ แต่จะทำได้หรือไม่ยังน่าสงสัย เพราะศาลสูงให้โควตางานราชการและที่นั่งในมหาวิทยาลัยแก่พวก “โอบีซี” แค่ 50% ขณะที่พวกโอบีซีมีจำนวนมากถึง 41-52% ของประชากรอินเดียทั้งหมด ดังนั้นการแย่งชิงจึงดุเดือดมาก
เป็นศึกชนชั้นวรรณะยุคใหม่ ที่ยอมทำทุกอย่าง แม้แต่ขอลดชั้นตัวเอง...เพื่อความอยู่รอด!
บวร โทศรีแก้ว