กลายเป็นภาพที่เห็นแล้ว...ชินตามากสำหรับสังคมคนกรุงโตเกียวที่มองเด็กตัวเล็กตัวจ้อยอายุน้อยๆ 6-7 ขวบ เดินไปโรงเรียนด้วยการซื้อตั๋วรถไฟแล้วจัดการหาที่นั่งเองเพียงลำพังโดยไม่แสดงท่าทีเงอะๆ งะๆ หรืองอแงขอให้ผู้ใหญ่ช่วย
เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองในประเทศนี้จะปล่อยให้ลูกตัวเองออกไปนอกบ้านตั้งแต่ตัวเล็กๆ เหมือนรายการทางทีวียอดฮิต “Hajimete no Otsukai” หรือ ภารกิจครั้งแรกของฉัน ซึ่งที่เมืองไทยก็เคยซื้อลิขสิทธิ์มาให้ดูกันทางทีวีใช้ชื่อรายการว่า “อัจฉริยะตัวกะเปี๊ยก” ดูไปก็อมยิ้มไปแล้วชื่นชมกับความสำเร็จที่หนูๆ เหล่านั้นกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย
ซึ่งเนื้อหาของรายการให้เด็ก (อายุน้อยสุดเพียง 2-3 ขวบ) ออกไปทำธุระที่แม่สั่งไว้ แล้วขณะที่เจ้าหนูน้อยเดินเตาะแตะไปตามทางเพื่อถึงร้านขายของชำหรือร้านเบเกอรี่ ก็จะถูกตากล้องของทางรายการคอยแอบถ่าย มีผู้ใหญ่บางคนคอยดูแลอย่างห่างๆ ไม่ให้เด็กสังเกตเห็น ออกอากาศอยู่อย่างนี้มานานกว่า 25 ปี จนเด็กเติบโตเป็นวัยผู้ใหญ่ก็มีตามติดสัมภาษณ์...ยังจำได้มั้ย? ตรงนั้น ตรงนี้ คุณทำอะไร?
ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้โลกตะวันตกเห็นแล้วถึงกับต้องศึกษาวิเคราะห์ อย่างเช่น มร.ดเวย์น ดิซอน นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ซึ่งทำรายงานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องเยาวชนญี่ปุ่น “เด็กประเทศนี้จะได้รับการฝึกฝนเรียนรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ และเมื่ออยู่ที่โรงเรียน พวกเขาก็สามารถสลับหน้าที่กันทำความสะอาดเช็ดขัดถู หรือตักอาหารเอง แม้แต่การล้างห้องน้ำ
ความรับผิดชอบเหล่านี้จะปลูกฝังให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของผลงานและเข้าใจดีว่าไม่ควรทำเลอะเทอะสกปรก เพราะรู้แล้วว่าต้องทำความสะอาดยากง่ายแค่ไหน จริยธรรมข้อนี้ยังขยายไปถึงพื้นที่สาธารณะตามชุมชนอีกด้วย” (มิน่าตามถนนหนทางในญี่ปุ่นถึงสะอาดกันจัง)
...
พ่อแม่ผู้ปกครองชาวญี่ปุ่นให้อิสระต่อลูกๆ เพราะให้ความสำคัญในเรื่องไว้วางใจไม่เฉพาะลูกหลานตัวเอง แต่ยังเหมารวมถึงทั้งชุมชน ด้วยอัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศนี้ต่ำมาก ซึ่ง มร.ดิซอนตั้งประเด็นขึ้นว่า เด็กจำนวนมากมายทั่วโลกก็ดูแลตัวเองดีพอเหมือนกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ชาวโลกตะวันตกก็ยังรู้สึกประหลาดใจอยู่ดีกับเรื่องไว้เนื้อ เชื่อใจกันและร่วมมือกันซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยที่ไม่ต้องบอกหรือเรียกร้องอะไรเลยนี่สิ!!!
ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ