วิกฤตการณ์ผู้อพยพทะลักเข้ายุโรป ส่งผลยูเอ็นกำลังพิจารณาจะอนุญาตให้อียู มีอำนาจในการปฏิบัติการทางเรือและทางทหารในเขตน่านน้ำสากล เพื่อหยุดยั้งขบวนการลำเลียงผู้อพยพทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมายังยุโรปตะวันตก

เมื่อวันที่ 10 ก.ย.58 แหล่งข่าวนักการทูตเปิดเผยว่า สหประชาชาติ (ยูเอ็น) กำลังพิจารณาจะอนุญาตให้สหภาพยุโรป (อียู) ปฏิบัติการทางเรือ รวมทั้งปฏิบัติการทางทหารในเขตน่านน้ำสากลเพื่อหยุดยั้งขบวนการลำเลียงผู้อพยพทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนบริเวณนอกชายฝั่งประเทศลิเบีย เนื่องจาก มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในขณะนี้ อนุญาตให้การปฏิบัติการของอียูทำได้เพียงสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเท่านั้น

โดยสหประชาชาติจะต้องให้ความยินยอมอนุมัติเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติการของอียูในเขตน่านน้ำสากล เนื่องจากขณะนี้การติดตามผู้อพยพผ่านแดนหรือเขตน่านน้ำประเทศลิเบียจะต้องได้รับความยินยอมอย่างเป็นทางการจากทางการลิเบียเสียก่อน โดยที่ทางการลิเบียยังไม่ให้ความยินยอมแม้ว่ายูเอ็นจะใช้ความพยายามในการเป็นคนกลางเจรจาก็ตาม

ดังนั้น แนวคิดที่จะให้สหประชาชาติให้ความยินยอมกับสหภาพยุโรปในการปฏิบัติการทางทหารในเขตน่านน้ำสากล รวมทั้งการเรียกตรวจเรือที่ผิดสังเกตเพื่อตรวจสอบจึงเป็นหนทางเดียวเท่านั้น หากพบว่ามีผู้อพยพอยู่บนเรือก็จะได้รับความช่วยเหลือและพาตัวไปยังประเทศอิตาลีเพื่อตรวจสอบสถานะการเป็นผู้ลี้ภัย

สำหรับเรือที่ถูกตรวจจับก็จะถูกยึดหรือทำลาย หรือรื้อถอนเพื่อให้ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป และผู้ควบคุมเรือก็จะถูกดำเนินคดี ขณะนี้ข้อมติดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคง 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้อง โดยยังไม่มีการส่งเรื่องไปให้ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงทั้ง 15 ประเทศพิจารณา

...

ด้านนายวิตาลี ชูคลิน เอกอัครราชทูตรัสเซียผู้ทำหน้าที่ประธานคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชน ในเดือนกันยายน ระบุว่า บันทึกข้อมติดังกล่าวมีข้อความที่จำกัดมากกว่าร่างเดิม ที่หมายรวมถึงคณะผู้ปฏิบัติการทางเรือทั้งหมดตามท่ีสหภาพยุโรปกำหนด ทั้งนี้ ข้อมติดังกล่าวน่าจะได้รับการรับรองภายในเดือนกันยายนนี้ นักการทูตประจำคณะมนตรีความมั่นคงรายหนึ่งระบุว่า "เราหวังว่าจะสามารถพิจารณาข้อมติดังกล่าวเสร็จสิ้นภายในสองสัปดาห์นี้ ก่อนการเริ่มการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีช่วงปลายเดือนกันยายน"

ส่วนนายบัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็น มีความต้องการจัดการประชุมระดับสูงเกี่ยวกับปัญหาวิกฤติผู้อพยพในวันที่ 30 กันยายน ที่จะถึง พร้อมกับการประชุมสมัชชาใหญ่ ถึงแม้ว่าสหภาพยุโรปจะต้องการไฟเขียวสำหรับการปฏิบัติการทางทะเลในเขตน่านน้ำสากล แต่ก็ยังมีประเทศสมาชิกบางประเทศที่มีความเห็นแตกต่างสำหรับการปฏิบัติการในเขตน่านน้ำดังกล่าว อาทิ อิตาลีที่มีมุมมองที่ชัดเจนกว่า สหราชอาณาจักรหรือเยอรมนี นักการทูตคนดังกล่าวระบุ