ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เชิญ ร.ต.อ. ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ พูด “ประชาคมอาเซียนกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รับใช้ปลัด อบจ. ปลัดเทศบาล ปลัด อบต. ท้องถิ่นจังหวัด ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงาน ฯลฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 346 คน พฤหัสบดีวันนี้ 09.00-12.00 น. ที่โรงแรม บี. พี. สมิหลา บีช จ.สงขลา
หลายท่านที่ผมรู้จักยังเข้าใจว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่การเมืองเละตุ้มเป๊ะ และเศรษฐกิจไม่ดี ขอเรียนนะครับว่า นั่นเป็นอินโดนีเซียในสมัยที่ประธานาธิบดีชื่อซูฮาโต ฮาบีบี และเมกาวาตี ซูกาโนบุตรี สมัยนั้น ประชาชนเลือกผู้แทน ผู้แทนเลือกประธานาธิบดี การเมืองจึงมีแต่เรื่องต่อรอง ไม่มั่นคง ทว่า ตั้งแต่อินโดนีเซียเปลี่ยนมาเป็นการเลือกประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชนคนทั้งประเทศ การเมืองก็มีความมั่นคงและทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นมาก
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ไม่ต้องง้อตลาดส่งออกต่างชาติเพราะพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศถึงร้อยละ 56 ของจีดีพี ไม่เหมือนบางประเทศที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศมากถึงร้อยละ 50-70 ทำให้ต้องง้อต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา
ตั้งแต่การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจอินโดนีเซียก็โตด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 6 ต่อปี ทำให้คนอินโดนีเซียที่มีจำนวนมากถึง 253 ล้านคน มีกำลังซื้อมากขึ้นตามไปด้วย การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจดี ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของคนอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90 ดิ อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ซึ่งเป็นหน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจที่เชื่อถือได้บอกว่า ใน พ.ศ.2561 คนอินโดนีเซียจะมีรายได้เฉลี่ย 6,550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี
กลุ่มผู้บริโภคระดับกลางของอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นเกินหนึ่งร้อยล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มเฉลี่ยประมาณ 5 ล้านคนต่อปี ผู้อ่านท่านลองนึกดูนะครับ ผู้บริโภคระดับกลางของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเท่ากับคนสิงคโปร์ทั้งประเทศทุกปี ตลาดอินโดนีเซียจึงน่าสนใจขนาดไหน
...
ผู้บริโภคระดับกลางของอินโดนีเซียชอบลองของใหม่ และก็ชอบสินค้าไทยมาก เมื่อบวกกับวิถีชีวิตของคนอินโดนีเซียที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้ต้องซื้อข้าวของเครื่องใช้มากขึ้น สมัยก่อน แต่งงานเสร็จ ผู้ชายต้องไปอยู่บ้านผู้หญิง แต่สมัยนี้ แต่งงานแล้วก็แยกครอบครัวมาได้เลย เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ต้องซื้อใหม่หมด และต้องเป็นสินค้าไทยถึงจะถือว่าครอบครัวนั้นมีรสนิยม
ผมอ่านรายงานของแมคคินเซย์พบว่า สัดส่วนประชากรในเมืองของอินโดนีเซียจะเพิ่มจากร้อยละ 55 ของประชากรทั้งหมดใน พ.ศ.2556 ไปเป็นร้อยละ 70 หรือ 209 ล้านคน ใน พ.ศ.2573 คนชนบทจะย้ายมาเป็นคนเมือง เมื่อมาอยู่เมืองก็ต้องมีที่อยู่อาศัยแบบเมืองท่าน ที่สนใจจะไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน อะไรพวกนี้ก็น่าจะดีนะครับ
สมัยก่อน คนอินโดนีเซียอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่และก็ทำอาหารทานกันเองที่บ้าน ตอนนี้เป็นครอบครัวเล็ก ทานอาหารนอก บ้านสะดวกกว่า หลังเลิกงานแล้ว พวกผู้บริโภคระดับกลางก็นิยมออกไปสังสรรค์เฮฮา และก็อินเทรนด์นะครับ เด็กอินโดนีเซียยุคใหม่ดื่มกาแฟทั้งวัน นี่ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่หลังจากเปิดประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แล้ว คนไทยก็ไปเปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือร้านเบเกอรี่ หาเงินจากคนอินโดนีเซียเป็นร้อยล้านคนได้
ที่ดีที่สุดในขณะนี้ก็คือ ท่านอยู่ในเมืองไทยนี่ล่ะครับ แต่ค้าขายออนไลน์กับคนอินโดนีเซีย ทำเว็บไซต์ภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย ขณะนี้ ตลาดค้าปลีกออนไลน์โลกขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 20 แต่บริษัทวิจัยอินไซด์ รีเทล ของออสเตรเลียวิจัยตลาดค้าปลีกออนไลน์ของอินโดนีเซียพบว่า ขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 40 ปีที่แล้ว ตลาดค้าปลีกออนไลน์ของอินโดนีเซียมีมูลค่าแค่ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิ้น พ.ศ. 2558 คาดว่าอยู่ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปีหน้า 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
พ.ศ.2548 คนอินโดนีเซียใช้อินเตอร์เน็ตแค่ 12 ล้าน ก็ประมาณร้อยละ 5 ของประชากร แต่วิจัยที่ทำกันนี่ สิ้น พ.ศ.2558 คนอินโดนีเซียจะใช้อินเตอร์เน็ตมากถึง 125 ล้านคน นั่นหมายถึง ร้อยละ 50 ของประชากรเลยนะครับ
ผมจึงอยากจะฝากท่านที่มองตลาดอินโดนีเซียด้วยทัศนคติเดิมๆ ช่วยมองตลาดอินโดนีเซียว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสุดในสิบประเทศของประชาคมอาเซียนด้วยครับ.