ไม่มีอะไรจะกดดันและหนักอึ้งเท่าการเกิดมาเป็นลูกคนรวยคนดัง!! ต้องอยู่ใต้ร่มเงาพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะถ้าพ่อแม่เป็นบุคคลสำคัญระดับตำนาน และสร้างอาณาจักรธุรกิจไว้ใหญ่โต พวกลูกไม้ใต้ต้นทั้งหลายก็ยิ่งถูกบีบให้หดเล็กลงเหลือตัวนิดเดียว จนแทบไม่เห็นหนทางสร้างความสำเร็จในแบบฉบับตัวเอง

ลูกชายของ “พลเอกดักลาส แมกอาร์เธอร์” วีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่สองของอเมริกา หนีเงาทะมึนของพ่อ ด้วยการเปลี่ยนชื่อแซ่ใหม่หมด และปลีกตัวจากสังคม ขณะที่ลูกฝาแฝดของนางสิงห์เหล็กอังกฤษ “นายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แธตเชอร์” เลือกทางเดินที่แตกต่างกันคนละขั้ว โดยแฝดชาย “มาร์ค” เข้ามาเล่นการเมืองตามรอยแม่ แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า ขณะที่แฝดหญิง “แครอล” ย้ายไปอยู่ออสเตรเลียเพื่อสร้างชื่อเสียงจากการเป็นผู้สื่อข่าว กระทั่งโด่งดังแล้วจึงกลับมาอังกฤษ

ลูกชายของ “วินสตัน เชอร์ชิล” รัฐบุรุษเกรียงไกรของอังกฤษ อาจอนาคตไกลกว่านี้ ถ้าไม่เข้ามาเล่นการเมืองถูกเงาพ่อบดบัง เช่นเดียวกับ “เกร็ก นอร์แมน จูเนียร์” แม้จะเล่นกอล์ฟอาชีพได้ดี แต่ก็เทียบไม่เห็นฝุ่นเลยเมื่อเปรียบกับพ่อ “เกร็ก นอร์แมน” ซึ่งเป็นโปรกอล์ฟอันดับหนึ่งระดับตำนาน ขนาดมหาเศรษฐีโลก “บิล เกตส์” ยังเคยวิ่งหนีอิทธิพลความสำเร็จของพ่อ “วิลเลี่ยม เฮช เกตส์” ซึ่งเป็นทนายความดัง โดยทิ้งตำราเรียนกฎหมาย ลาออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดกลางคัน เพื่อเขียนชะตาชีวิตตัวเองใหม่ กระทั่งเป็นเจ้าพ่อไมโครซอฟต์

ต้องยอมรับว่าการอยู่ภายใต้ร่มเงาพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จ มันช่างกดดันซะจริงๆ เพราะถ้าทำได้ดีคนก็หาว่าพ่อแม่คอยช่วยหนุนหลัง แต่ถ้าผิดพลาดล้มเหลวจะโดนซ้ำว่าไม่เอาไหนเลย ไม่เห็นเก่งเหมือนพ่อแม่!! คือทั้งชีวิตโดนเปรียบเทียบกับบุพการีตลอด

...

พ่อแม่ตระกูลดังยุคใหม่หลายแฟมิลี่ จึงเลือกที่จะช่วยลดแรงกดดันให้ลูก ด้วยการเปิดทางให้เด็กๆไปสร้างดาวดวงใหม่เล็กๆของตัวเอง โดยไม่บีบคั้นให้ลูกๆต้องมารับช่วงสานต่ออาณาจักรธุรกิจแทนพ่อแม่ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ชาญฉลาด เพราะการดึงดันส่งไม้ต่อให้ลูกเข้ามาทำธุรกิจ ในขณะที่ยังอ่อนด้อยประสบการณ์, ฝีมือไม่ถึง และไม่เคยทำอะไรสำเร็จมาก่อน มันไม่เพียงแต่จะส่งผลร้ายกับเด็กๆ แต่ยังเสี่ยงทำลายธุรกิจครอบครัวให้พังครืน ถึงเวลานั้นก็สายเสียแล้วที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยกอบกู้อาณาจักรธุรกิจที่สร้างมากับมือ เชื่อเถอะว่าการทำธุรกิจยุคนี้แข่งขันขับเคี่ยวกันรุนแรงเกินกว่าจะเป็นสนามเด็กเล่นให้คนรุ่นใหม่ลองผิดลองถูก

ก็เพราะรู้จุดอ่อนของการส่งไม้ต่อให้คนรุ่นลูกสืบทอดธุรกิจ “วอร์เรน บัฟเฟต์” นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ชาวมะกัน วัย 84 ปี ผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจเบิร์คเชียร์ ฮาธาเวย์ จนขึ้นหิ้งเป็นมหาเศรษฐีเบอร์สามของโลก มีสินทรัพย์ในครอบครองกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเขียนคัมภีร์สืบทอดธุรกิจไว้อย่างรัดกุมเมื่อหลายปีก่อน เพื่อให้ลูกชายคนโต “โฮเวิร์ด เกรแฮม บัฟเฟต์” ซึ่งเข้ามานั่งในบอร์ดบริหารบริษัท ตั้งแต่ปี 1994 ใช้เป็นคู่มือบริหารธุรกิจให้เดินไปได้อย่างมั่นคงในอนาคต โดยไม่สะดุดหกล้ม แม้ในวันที่ “ป๋าวอร์เรน” เลิกกุมบังเหียน!

ทั้งนี้ ตั้งแต่กลางปี 2010 “ป๋าวอร์เรน” ฉลองวันเกิดครบรอบ 80 ปี ด้วยการประกาศลดบทบาทตัวเอง เพื่อเปลี่ยนธุรกิจสู่การเป็นมืออาชีพเต็มตัว โดยถ่ายโอนอำนาจบริหารให้กับทีมผู้บริหารมืออาชีพตัวจริง ล้วนแต่เป็นผู้จัดการการลงทุนชั้นเซียน ส่วน “ป๋าวอร์เรน” ยังรั้งตำแหน่งซีอีโอและแชร์แมนบริษัท เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือหุ้น

สาระสำคัญที่นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่เขียนไว้ในคัมภีร์คือ ภารกิจในการปลุกปั้นสร้างธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้เสร็จสมบูรณ์แล้วในยุคของเขา งานที่เหลืออยู่สำหรับคนรุ่นลูกก็คือการรักษาธุรกิจให้คงอยู่ต่อไป เป็นการสืบสานเพื่อรักษามรดกที่พ่อสร้างไว้ ไม่ใช่การผลาญเงินทองแบบไร้จุดหมายเพื่อสนองความฝันตัวเอง! สำหรับคุณป๋าแล้ว การส่งลูกชายคนโตเข้ามานั่งในบอร์ดบริหารก็เพียงเพื่อทำหน้าที่ดูแลทีมผู้บริหารมืออาชีพให้ยึดมั่นแนวทางการบริหารงานตามเจตนารมณ์ที่คุณป๋าวางรากฐานไว้ ส่วนเรื่องการปลดการเปลี่ยนมือบริหารเก่าแก่ อนุญาตให้ทำได้ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น.

มิสแซฟไฟร์