วิถีชีวิตของเหล่า “โอปป้า” และบรรดา “อนนี่” นักร้อง-นักแสดงคนดังจากแดนเกาหลี (ใต้) ซึ่งแฟนคลับชาวไทยเห็นกันผ่านสื่อบันเทิงอาจสวยหรูดูดีน่าอิจฉา เพราะเป็นชีวิตในบ้านเมืองพัฒนาแล้วที่สวยงามและเป็นระเบียบ

แต่ก็ใช่ว่าวิถีชีวิต “คนธรรมดา” จะเป็น เหมือนภาพมายาที่นำเสนออยู่ในสื่อ “เค–ป๊อป” ทั้งหลาย!!!

โดยเฉพาะชีวิต “เด็ก” เกาหลีใต้ ซึ่งติดอันดับ “รั้งท้าย” จากการสำรวจความสุขและความพอใจในชีวิตของเยาวชนอายุตั้งแต่ 9-18 ปี เปรียบเทียบกับเด็กๆ จากอีก 27 ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) รวมถึงเด็กๆ จากลัตเวีย โรมาเนีย และลิทัวเนีย คิดเป็น 30 ประเทศพอดี

ผลสำรวจบ่งชี้ว่าเด็กๆชาวเกาหลีใต้มีความสุขในชีวิต “น้อยที่สุด” เมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มประเทศพัฒนาทั้งหมด โดยเด็กๆเกาหลีใต้ให้เหตุผลว่าชีวิตของพวกเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันมากมาย ทั้งการแก่งแย่งแข่งขันด้านการศึกษา, การถูกกลั่นแกล้งและการใช้ความรุนแรงจากเพื่อนร่วมโรงเรียน, ภาวะขาดความอบอุ่น รวมถึงปัญหาเด็กติดอินเตอร์เน็ตและการตกเป็นเป้าโจมตีและล้อเลียนในเครือข่ายสังคมออนไลน์

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบให้เด็กๆเกาหลีใต้จำนวนมากเผชิญภาวะเครียด ซึมเศร้า ถึงขั้นตัดสินใจฆ่าตัวตาย และมากกว่าครึ่งของเด็กที่มีประวัติเคยคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย ตอบว่า “การกดดันเรื่องผลการเรียน” เป็นสาเหตุยอดนิยมอันดับ 1 ที่ทำให้พวกเขาเครียดจัดจนคิดจะจบชีวิตตัวเอง

ส่วนประเด็นที่น่าเป็นห่วงอีกประการคือเด็กๆเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เข้าขั้น “ขาดแคลน” เวลาพักผ่อนหย่อนใจและไม่มีโอกาสทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะการใช้ชีวิตนอกรั้วโรงเรียน

...

สิ่งที่เป็นตัวยืนยันว่าสังคมเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการเรียน (และการแข่งขันด้านการศึกษา) เห็นได้จากธรรมเนียมการเปิดตลาดหลักทรัพย์และย่านธุรกิจช้ากว่าเวลาปกติ 1 ชั่วโมงในช่วงที่นักเรียน ม.ปลายทั่วประเทศต้องเข้าสู่สนามสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยในแต่ละปี เพื่อช่วยให้นักเรียนทั้งหลายไม่ต้องเผชิญปัญหาจราจร จะได้ไม่ต้องไปสายจนหมดสิทธิ์สอบ ส่วนเครื่องบินต่างๆ ถูกสั่งงดบินในช่วงที่นักเรียนกำลังสอบวิชาที่เกี่ยวกับ “การฟัง”

หากใครสงสัยว่าแบบสอบถามนี้อาจมีอคติกับเกาหลีใต้มากเกินไป ก็โปรดรับทราบทั่วกันว่าหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดการและประเมินสรุปผลแบบสอบถามก็คือ “กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้” นั่นแล...

แพนด้า ตาดำๆ