ไม่ไกลเกินฝัน... องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย สร้างประวัติศาสตร์สุดยิ่งใหญ่... ส่งยานอวกาศ เข้าสู่วงโคจร พิชิตดาวอังคาร สำเร็จแล้ว เป็นชาติแรกและชาติเดียวในเอเชีย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 24 ก.ย.ว่า องค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ ยานอวกาศสำรวจดาวอังคาร (Mars Orbiter Mission) หรือ MOM ประสบความสำเร็จ ในการเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารแล้ว เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (24 ก.ย.) จนอินเดีย กลายเป็นชาติแรกและชาติเดียวในเอเชีย ที่สามารถส่งยานอวกาศไปพิชิตดาวอังคารได้สำเร็จ หลังจากไม่กี่วันก่อน องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) เพิ่งประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศ ‘มาเวน’ เข้าสู่วงโคจรดาวเคราะห์สีแดง
...
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย กล่าวด้วยความปลาบปลื้มยินดี ขณะเดินทางไปที่ศูนย์อวกาศแห่งชาติในเมืองบังกาลอร์ เพื่อติดตามเฝ้าชมช่วงเวลา ยานอวกาศสำรวจ MOM หรือมงคลยาน เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในวันพุธนี้ ว่า อินเดียได้ทำในสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขต และจินตนาการของมนุษย์ ขณะที่ บรรดาเจ้าหน้าที่องค์การวิจัยอวกาศแห่งชาติอินเดียต่างพากันปรบมือและดีใจกันอย่างมาก ที่ยานอวกาศ MOM เข้าสู่วงโครจรของดาวอังคาร ตามกำหนดการที่วางไว้
ทั้งนี้ องค์การวิจัยอวกาศแห่งชาติอินเดียได้ส่งยานอวกาศ MOM ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2556 โดยมีกำหนดเวลาเดินทางนานถึง 300 วัน (10 เดือน) ด้วยระยะทางไกลถึงประมาณ 6.8 แสนล้านกิโลเมตร ถือเป็น ยานอวกาศโลว์คอสต์ ราคาถูก ที่ใช้งบประมาณในโครงการนี้ เพียง 74 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,368 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับ นาซาที่ต้องใช้งบประมาณในการส่งยานมาเวน ถึง 671 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 21,472 ล้านบาท)