การหาคนมานั่งเก้าอี้บริหารสูงสุดของสหภาพยุโรป (อียู) 28 ประเทศ ทำท่าจะยุ่งและยืดเยื้อ! การประชุมสุดยอดผู้นำอียูที่เบลเยียมเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้แค่ ประธานกรรมาธิการยุโรป (European Commission) คือนาย ฌ็องโคล้ด ยุงเคอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของลักเซมเบิร์ก ยังมีอีก 3 ตำแหน่งใหญ่ที่ต้องไปลุ้นกันปลายเดือนหน้า คือ ประธานสภายุโรป (European Council) ประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศอียู (หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่าผู้แทนระดับสูงฝ่ายนโยบายต่างประเทศ) และ ประธานกลุ่ม รมว.คลัง ของกลุ่มผู้ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน)

นาง แคตเธอรีน แอชตัน และ เฮอร์แมน ฟาน รอมเปย จะหมดวาระจากประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศกับประธานสภายุโรปตาม ลำดับในเดือน พ.ย. และคาดกันว่าตำแหน่งของแอชตันก็จะเป็นผู้หญิงด้วย

การเลือกผู้นำอียูรอบแรกที่ว่า! มีปัจจัยชี้วัดผู้สมัครหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่แนวคิดหรือความสามารถ ไม่ว่าพรรคการเมืองและความสมดุลระหว่างเพศ (ชาย-หญิง) รวมทั้งข้อเรียกร้องจากสมาชิกอียูฝั่งเหนือ ใต้ ตะวันออกและตะวันตก เลยทำให้อียูยังหนีไม่พ้นข้อครหาเล่นการเมืองและเรื่องต่อรอง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไม่ถึงตัวเต็งคว้าเก้าอี้แทนแอชตัน คือ เฟเดริกา มอเกรินี วัย 41 ปี รมว.ต่างประเทศของอิตาลีที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งแค่ 4 เดือน แต่เธอถูกสมาชิกอียูจากฝั่งตะวันออกรวมทั้งลิทัวเนียเหน็บว่าขาดประสบการณ์และมีท่าทีต่อรัสเซียกรณีวิกฤติยูเครนอ่อนเกินไป ทำให้ คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมาธิการจากบัลแกเรียอาจเข้าวินแทน ส่วนนาง เฮลเล ทอร์นิ่งชมิดต์ วัย 47 ปี นายกฯ เดนมาร์ก ตัวเต็งขึ้นแทนนายฟาน รอมเปย ก็ถูกค้านเพราะเดนมาร์กไม่อยู่ในยูโรโซน

การแข่งขันหรือคัดเลือกคนที่คลุมเครือของอียู ทำให้ตัวเต็งแถวหน้าช่วงแรกๆถูกเบียดตกข้างทางและตัวเต็งหน้าใหม่จะค่อยๆเผยโฉมในช่วงท้ายๆเกม! อย่างกรณีของแอชตันและฟาน รอมเปยก็มาแบบเซอร์ไพรส์! เมื่อ เดวิด มิลิแบนด์ รมว.ต่างประเทศอังกฤษ (ขณะนั้น) ผู้จะถูกเสนอชื่อได้ปฏิเสธ! แอชตันที่ไม่มีประสบการณ์เรื่องนโยบายต่างประเทศเลยได้ส้มหล่น!

...

ส่วนนายฟาน รอมเปยก็เข้ามาหลังอดีตนายกฯ โทนี แบลร์ ของอังกฤษที่มีดีกรีและประสบการณ์เรื่องการต่างประเทศและชื่อเสียงดีกว่า!แต่คะแนนแผ่วปลายเลยตกม้าตายก่อนถึงเส้นชัย! ดังนั้น! หลังปลายเดือน ส.ค.อาจเป็นทำนองเดียวกัน.

เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์