เปิดฟ้าส่องโลกรับใช้ถึงตอนที่สมเด็จสีหนุเอา “ข้าว” มาหาเสียงให้พรรคสังคมราษฎร์นิยมจนได้คะแนนการเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคมากถึง 83% ได้ ส.ส. 91 ที่นั่ง แต่อยู่ได้ไม่นาน ชาวนาก็ฮือประท้วงเมื่อเมษายน พ.ศ.2510 สมเด็จสีหนุจึงใช้กำลังทหารปราบปรามอย่างรุนแรง

เมื่อรู้ตัวว่าสูญเสียคะแนนนิยมจากผู้คนชนชั้นชาวนาไปแล้ว สมเด็จสีหนุก็ต้องหาแหล่งรวมความนิยมของประชาชนคนกลุ่มใหม่ พ.ศ.2512 จึงตั้งผู้บัญชาการทหารที่ชื่อ นายพลลอน นอล เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลกู้ชาติ

แม้ว่าจะเป็นพันธมิตรทางการเมืองกัน แต่นายพลลอน นอลและเจ้าสีสุวัตถิ์ สิริมตะ ต่างก็เห็นว่า สมเด็จสีหนุใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อสร้างภาพลักษณ์+หาความสุขใส่ตัว+ยอมให้เวียดนามเหนือเข้ามาอยู่ในกัมพูชาเพื่อสู้กับอเมริกา + ปฏิเสธความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ทั้งสองคนจึงโค่นสมเด็จสีหนุในขณะที่พระองค์กำลังจะขึ้นเครื่องบินจากกรุงมอสโกมายังกรุงปักกิ่ง

นายโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ไปรับเสด็จเจ้าสีหนุถึงสนามบินกรุงปักกิ่ง ระหว่างนั่งรถเพื่อนำสมเด็จสีหนุมายังที่ประทับ นายโจวถามสมเด็จสีหนุว่า “พระองค์จะสู้หรือไม่?” สมเด็จสีหนุบอกว่า “สู้” นายโจวบอกว่า ถ้างั้นจีนจะให้การสนับสนุน แต่ขอเตือนให้พระองค์ทรงตรองดูให้ดีเสียก่อน ให้ใช้เวลาตรองสัก 24 ชั่วโมง เพราะหนทางในการต่อสู้นั้น “ยาวนานและยากเข็ญ”

สมเด็จสีหนุยืนยันทันทีอีกว่า “สู้”

จีนจึงให้สมเด็จสีหนุใช้กรุงปักกิ่งเป็นที่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

สมเด็จสีหนุประกาศจัดตั้ง Royal Government of National Union of Kampuchea แปลเป็นภาษาไทยก็คือ “รัฐบาลสหภาพแห่งกัมพูชา” เมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2513 เพื่อรบกับ “รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐกัมพูชา” ของนายพลลอน นอล

...

ตั้งแต่มี 2 รัฐบาล คนเขมรเลิกสนใจการทำมาหากินและการศึกษา คนส่วนใหญ่จมดิ่งไปในความขัดแย้งอย่างน่าเศร้าใจ ข้าวที่เคยทำรายได้ให้กับกัมพูชาเป็นกอบเป็นกำ ภายในเวลาเพียง 2-3 ปีต่อมา อนิจจา เขมรกลับผลิตข้าวได้ไม่พอกิน เขมรเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ แม้ว่าจะยากจน แต่ก็ไม่มีขอทาน ทว่า หลังจากสังคมแตกแยกรุนแรง ขอทานก็อุบัติในสังคมเขมร คนไม่มีงาน ไม่มีจะกิน เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

คนหลายกลุ่มฟอร์มตัวกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลของสาธารณรัฐกัมพูชา มีทั้งพวกเขมรแดง มีทั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของสหภาพแห่งกัมพูชา เพื่อให้มีเอกภาพ พวกต่อต้านทั้งหลายทุกกลุ่มจึงอุปโลกน์ให้สมเด็จสีหนุเป็น “ผู้นำแนวร่วมแห่งชาติต่อต้านสาธารณรัฐกัมพูชา”

ในห้วงช่วงนี้นี่เองครับ พวกเขมรแดงซ่องสุมกำลังผู้คนได้มากถึงหนึ่งแสน คุมพื้นที่ไว้ได้มากกว่า 50% ปกครองคนมากถึง 40% ของคนทั้งประเทศ แต่ส่วนมากเป็นผู้คนในชนบท

รัฐบาลพลัดถิ่นของสมเด็จสีหนุ + เขมรแดง รบกับสาธารณรัฐกัมพูชาอยู่นาน 5 ปี ก็ชนะ พวกเขมรแดงเข้ายึดกรุงพนมเปญได้ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2518

ชนะแล้ว เขมรแดงก็ตั้ง “รัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย” โดยมีเป้าหมายสร้างสังคมใหม่ที่ไม่มี 1.การขูดรีด 2.การเอารัดเอาเปรียบ และ 3.ความไม่เท่าเทียมกัน จากนั้นก็อุปโลกน์ให้สมเด็จสีหนุเป็นประมุขเพียงในนาม ส่วนอำนาจทั้งหมดอยู่ที่อ็องการ์เลอ หรือองค์กรปฏิวัติเขมรแดง

เขมรแดงประกาศว่าจะให้มีเลือกตั้ง “สมาชิกสภาแห่งชาติ” ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2519 แต่คนที่ไม่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติ ไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิ์ลงคะแนน คนที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติจะต้องเป็นตัวแทนของชนชั้น หรือตัวแทนของอาชีพเท่านั้น

คนเขมรปรับตัวกันไม่ทัน จากสังคมที่มีบรรยากาศประชาธิปไตย กลายเป็นประเทศเผด็จการไปอย่างฉับพลันทันที ทุกเวลานาที มีทหารเขมรแดงมาบังคับประชาชนให้ออกจากบ้านในเมือง และให้เร่งเดินเท้าไปทำงานการเพาะปลูกพืชผลในชนบท เพื่อเลี้ยงประเทศให้อยู่รอด

หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ยึดกรุงพนมเปญได้ เขมรแดงบังคับให้คนออกจากบ้านไปอยู่ในชนบทมากกว่า 2 ล้านคน

เขมรแดงบอกว่าที่จับไอ้คนพวกนี้เอาไปอยู่รวมกัน ก็เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ทะเลาะกันมายาวนาน เขมรแดงต้องการให้เขมรทุกคนร่วมมือกันเพื่อสร้างเขมรสังคมใหม่

“สังคมใหม่เขมร” เป็นยังไง ขอมารับใช้ในโอกาสหน้าครับ.

คุณนิติ นวรัตน์