ปีที่แล้ว พ่อร่วมทีมไปเยือนพม่ากับคุณอลงกรณ์ พลบุตร หลายครั้ง บางครั้งพ่อไปไม่ได้ พี่ชายคนโตของผมก็ไปรับใช้คุณอลงกรณ์แทน ครั้งล่าสุดที่ไปกับคุณอลงกรณ์ พ่อเจอหนังสือ “The Rice Industry of Burma, 1852-1940” หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.2511 เล่าถึงข้าวพม่า ตั้งแต่ พ.ศ.2395 จนถึง พ.ศ.2483 เป็นเรื่องราวของข้าวพม่าเมื่อ 74-162 ปีที่แล้ว

“สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา” ของสิงคโปร์นำมาพิมพ์ใหม่เมื่อ พ.ศ.2555 เพื่อให้สิงคโปร์รู้ถึงความเป็นไปในพืชเศรษฐกิจของพม่าแต่ละตัวอย่างลึกซึ้ง เพื่อช่วยให้คนสิงคโปร์เข้าไปทำการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในพม่าได้อย่างไม่สะเปะสะปะ

ไม่ใช่เรื่องเขียนเพื่ออ่านเล่น แต่ผมผู้อ่านก็สนุกและประทับใจการค้นคว้าข้อมูลด้านข้าว ตั้งแต่ก่อนที่อังกฤษจะเข้ามาปกครอง จนกระทั่งถึงยุคที่อังกฤษเข้ามาแล้ว ผู้เขียนเล่าถึงการทำนาข้าว ชาวนา เจ้าของที่ดิน คนกลาง ผลผลิต และการส่งออกข้าวของพม่า

พม่าเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกในสมัยอังกฤษปกครอง ส่งได้มากถึง 75% ของการส่งออกข้าวทั่วโลก

หลังจากญี่ปุ่นบุกพม่า หลังจากที่พม่าได้เอกราชแล้ว การผลิตก็น้อยลง คุณภาพที่ผลิตก็ไม่ได้มาตรฐาน ชั่วระยะเวลาไม่กี่ปีต่อมา พม่าไม่สามารถแข่งขันในตลาดข้าวโลกได้ ทั้งในด้านคุณภาพและราคา

หนังสือเล่มนี้เล่าถึงการเข้าไปหักร้างถางพงของชาวนาพม่า เมื่อได้ที่ดินทำกินมาแล้ว ก็ต้องไปกู้เงินจากนายทุนเพื่อมาใช้จ่ายในการซื้อเมล็ดพันธุ์และด้านอื่น พอไม่ส่งดอก ที่ดินของชาวนาก็จะถูกยึดไปเป็นของนายทุน แต่เพราะพม่ามีป่าเยอะ ชาวนาเหล่านี้ก็ออกไปหักร้างถางป่า เอามาทำเป็นนาผืนใหม่ วงจรของชาวนาพม่าก่อนที่คนอังกฤษเข้ามาปกครองเป็นอย่างนี้

พวกอังกฤษแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินให้ชาวนาได้บ้าง แต่ไม่มาก กระทั่งนายพลเนวินยึดอำนาจและปิดประเทศ เนวินเอาระบบสังคมนิยมเข้ามาใช้ ยึดที่ดินทั้งหมดมาเป็นของรัฐ ในยุคของเนวินใครจะทำนา ต้องไปเช่าที่ดินจากรัฐบาล และถ้าชาวนาปลูกข้าวในที่นาผืนใดได้นานติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปี ก็สามารถจะโอนสิทธิการเช่าที่นาต่อไปยังลูกหลานได้

...

สมัยที่พม่ามีกษัตริย์ กษัตริย์พม่าไม่อนุญาตให้ส่งออกข้าว ชาวนาได้ข้าวมาเท่าใด พวกขุนนางก็จะแบ่งข้าวเอาไปจุนเจือเกื้อกูลผู้คนในชนชั้นตัวเอง ชาวนาได้ส่วนแบ่งข้าวเพียงพอกินแบบชนปี การขยายพื้นที่ทำนาก็ต้องได้รับอนุญาตจากชนชั้นปกครอง เมื่ออังกฤษมาเป็นเจ้าเข้าครอง คนพม่าชั้นล่างจึงดีใจ เพราะไม่ต้องแบ่งข้าวให้คนชั้นปกครอง สามารถเอาไปขายได้เงิน แถมอังกฤษยังส่งเสริมให้มีการโค่นป่าขยายที่ทำนา จนพม่ากลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก

อังกฤษส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวในบริเวณปากแม่น้ำอิรวดี และสร้างมาตรฐานของข้าวอย่างละเอียดมาก อังกฤษนำคนพม่าจากทางเหนือให้ลงมาทำนาในทางตอนใต้ที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และนำคนงานมาจากอินเดียเข้ามาช่วยปลูกข้าวด้วย แถมยังสร้างแรงจูงใจให้คนพม่าที่เข้าไปหักร้างถางพงเพื่อสร้างนาผืนใหม่ ด้วยการไม่ต้องเสียภาษีนานถึง 12 ปี รวมทั้งพัฒนารถไฟและการขนส่งทางน้ำเพื่อใช้ขนข้าวให้สะดวกขึ้น

หนังสือ “อุตสาหกรรมข้าวของพม่า ค.ศ.1852-1940” เปิดผลวิจัยระหว่างการใช้วัวกับใช้ควายในพม่าสมัยนั้น พบว่า ควายขี้เกียจกว่าวัว ชอบนอนมากกว่า พวกอังกฤษจึงส่งเสริมให้คนพม่าใช้วัวไถนาและใช้ในการขนส่งระยะสั้น

หนังสือเล่มนี้มีเอกสารเก่า ตารางและสถิติที่แสดงให้เห็นความเป็นไปในสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครอง อังกฤษนำเงินเข้ามาก้อนใหญ่ให้ชาวพม่ากู้ เพื่อเอาไปทำนา และเอาไปสร้างโรงสีข้าว โรงสีข้าวของพม่าในสมัยนั้นทันสมัยมาก เพราะใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรยุโรป และยังให้มีคนยุโรปเข้ามาหลายพันคน เพื่อมาช่วยพัฒนาเครื่องจักรตามโรงสีเหล่านี้อีกด้วยครับ

ผมอ่านหนังสือของสิงคโปร์เกี่ยวกับการเกษตรในอาเซียนหลายเล่ม จนทราบถึงสิ่งที่อยู่ใต้สมองของคนสิงคโปร์ ที่มุ่งมั่นจะเป็นเบอร์หนึ่งด้านการเกษตรในประชาคมอาเซียน

...อาจำนงค์และพ่อเป็นนายร้อยตำรวจ น.บ., ร.บ.รุ่น 15 และเลือกตำแหน่งแรกด้วยการไปเป็น ตชด.ในป่าที่กาญจนบุรีด้วยกัน อีก 28 ปีต่อมา ก็มาเรียน วปอ.2555 ด้วยกันอีก อาจำนงค์เป็นนายพลตั้งแต่อายุยังไม่ถึงห้าสิบ เคยเป็นผู้การชลบุรีและอีกหลายตำแหน่งสำคัญ

7 เมษายน 2557 นายเรียง รัตนกุล บิดาของ พล.ต.ต.จำนงค์ รัตนกุล เสียชีวิต สวดอภิธรรม 8-14 เมษายน เวลา 19.30 น. ที่วัดบ้านเชิด อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี บรรจุศพ 14 เมษายน เวลา 20.30 น. ครับ.

 

คุณนิติ นวรัตน์