รัฐบาลสหรัฐฯ เผย มีรัฐบาลติดต่อเข้ามาเพื่อขอเจรจาทางการค้ามากกว่า 50 ประเทศแล้ว ขณะที่อินโดนีเซียกับไต้หวันยืนยันว่า พวกเขาจะไม่มีมาตรการตอบโต้กำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 เม.ย. 2568 นายเควิน แฮสเซตต์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของทำเนียบขาวสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าว เอบีซี นิวส์ ว่า นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ก่อน จนถึงตอนนี้มีมากกว่า 50 ประเทศแล้วที่ติดต่อมายังทำเนียบขาวเพื่อขอการเจรจาทางการค้า
“พวกเขากำลังทำแบบนั้นเพราะเข้าใจว่า พวกเขากำลังแบกรับกำแพงภาษีปริมาณมาก” นายแฮสเซตต์กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ 2 เม.ย. 2568 เขาประกาศมาตรการเก็บ "ภาษีพื้นฐาน" (baseline tariff) ในอัตรา 10% ต่อสินค้าทั้งหมดจากทุกประเทศที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ และจะเก็บ "ภาษีต่างตอบแทน" (reciprocal tariff) ต่อหลายสิบประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้าด้วยมากที่สุด ในอัตราแตกต่างกันไป
ขณะเดียวกัน นายสกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่า เขาไม่เห็นเหตุผลที่จะคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลจากมาตรการภาษีของนายทรัมป์ ขณะที่การเทขายของนักลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงปฏิกิริยาตอบสนองระยะสั้นเท่านั้น
อนึ่ง มาตรการภาษีของนายทรัมป์ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลที่อาจตามมา ทั้งราคาสินค้าในสหรัฐฯ ที่อาจพุ่งสูงขึ้น และมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ ซึ่งจนถึงตอนนี้มีจีนกับแคนาดาที่ประกาศมาตรการตอบโต้ออกมาแล้ว ขณะที่สหราชอาณาจักรก็กำลังพิจารณาจะตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บ้าง
ขณะที่บางประเทศและดินแดนที่ได้รับผลกระทบเลือกใช้วิธีเจรจามากกว่าอย่างเช่น อินโดนีเซียกับไต้หวัน ที่ระบุว่า พวกเขาจะไม่บังคับใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทนต่อสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ ของไต้หวันระบุว่า พวกเขาจะใช้วิธียกเลิกกำแพงทางการค้า และค่อยๆ เพิ่มการลงทุนและความร่วมมือในสหรัฐฯ แทน
...
ส่วนนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยตัวเองเพื่อเจรจาการค้ากับนายทรัมป์
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : bbc