องค์กรสิทธิมนุษยชนและการเมืองอาเซียนกว่า 300 แห่งเรียกร้องรัฐบาลไทยปฏิเสธการเข้าร่วมของ "มิน อ่องหล่าย" ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ในการประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 6 ที่จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน

วันที่ 3 เมษายน 2568  รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights – APHR) ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทย ปฏิเสธการเข้าร่วมของ พลเอกอาวุโส "มิน อ่องหล่าย" ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา (พม่า) ในการเดินทางมาประชุม BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน นี้ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลทหารไม่มีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนประเทศ โดยการให้รัฐบาลทหารมีที่นั่งใน BIMSTEC เท่ากับเป็นการยอมรับความชอบธรรมของเผด็จการและอาชญากรสงคราม

นอกจาก APHR แล้ว องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมกว่า 319 แห่ง รวมถึงเครือข่าย Defend Myanmar Democracy ได้ร่วมกันกดดันให้รัฐบาลไทยและผู้นำ BIMSTEC ไม่เชิญ มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุม รวมถึงคว่ำบาตรผู้แทนรัฐบาลทหารพม่าจากทุกกิจกรรมของ BIMSTEC โดยระบุว่า รัฐบาลทหารพม่าเป็นอาชญากรสงคราม ไม่ควรได้รับการยอมรับ

องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลทหารพม่าได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง รวมถึงการสังหารหมู่ การโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน และการจับกุมประชาชนไปแล้วกว่า 28,900 คน ข้อมูลระบุว่า กองทัพพม่าได้ทิ้งระเบิดโจมตีหมู่บ้านต่างๆ 4,631 ครั้ง คร่าชีวิตพลเรือนไปมากกว่า 2,600 ศพ และทำให้ประชาชนกว่า 3 ล้านคน ต้องพลัดถิ่น ซึ่งนานาประเทศมองว่าการกระทำของรัฐบาลทหารถือเป็น การก่อการร้ายอย่างชัดเจน

...

ขณะเดียวกัน แม้เมียนมาจะเพิ่งเผชิญแผ่นดินไหว ขนาด 7.7 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ผ่านมา แต่กองทัพยังคงเดินหน้า ทิ้งระเบิดโจมตีพื้นที่ประสบภัย โดยมุ่งเป้าไปที่เมืองป่าว ในเขตสะกาย และ เมืองหน่าวโฉ่ ในรัฐฉานตอนเหนือ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล รายงานระบุว่า เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังแผ่นดินไหว กองทัพได้ใช้เครื่องบิน ทิ้งระเบิดใส่เมืองหน่าวโฉ่ โดยไม่มีการหยุดปฏิบัติการทางทหาร แม้ประชาชนกำลังเผชิญกับภัยพิบัติ.