• พม่าที่ยังอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองยืดเยื้อมานาน 4 ปี นับว่ายังขาดความพร้อมที่จะรับมือกับภัยพิบัติที่รุนแรงในระดับนี้ ทำให้เกิดความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เป็นวงกว้าง ขณะที่ไทยเพิ่งปรับปรุงมาตรฐานการก่อสร้างต้านแผ่นดินไหวในปี 2007 และเหมือนจะปฏิบัติตามแนวทางเป็นอย่างดี จึงช่วยลดความสูญเสียไปได้ไม่น้อย
  • ด้านกลุ่มองค์กรช่วยเหลือและองค์การสหประชาชาติ (UN) ออกคำเตือนว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพม่า อาจทำให้ปัญหาความอดอยากและการระบาดของโรครุนแรงขึ้นอีก เพราะองค์กรต่างๆ ยากที่จะเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบ
  • ภัยพิบัติครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพื้นที่อื่นๆ เช่น ไต้หวัน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการเตรียมพร้อมอย่างแข็งขัน

แผ่นดินไหว ขนาด 7.7 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นในภาคกลางของเมียนมา (พม่า) ได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วหลายพันศพ และทำลายบ้านเรือนจำนวนมาก และด้วยความขัดแย้งภายในที่ยังคงคุกรุ่นส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณสุข และโครงข่ายพลังงานของประเทศพังทลายลง และไร้ศักยภาพที่จะฟื้นฟูตนเองจากเหตุภัยพิบัติครั้งนี้

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงประชาชน 3.5 ล้านคนในเมียนมาต้องพลัดถิ่น และเศรษฐกิจล่มสลายอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นอีก จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรม

องค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์กรช่วยเหลือต่างๆ เตือนว่าก่อนเกิดแผ่นดินไหว ประชาชนหลายล้านคนในเมียนมากำลังเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรม และขณะนี้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง

ถอดบทเรียนเหตุแผ่นดินไหวพม่า : หายนะของประเทศที่ไม่พร้อมรับมือภัยพิบัติ

...

ขณะที่มาร์โคลุยจิ คอร์ซี ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของ UN ในเมียนมา ระบุว่าองค์การสหประชาชาติ ประเมินว่ามีประชาชน 19.9 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหว แต่หลังจากนี้สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลง

ก่อนเกิดแผ่นดินไหว โครงการอาหารโลก (WFP) ประเมินว่ามีประชาชนมากกว่า 15 ล้านคนจากทั้งหมด 51 ล้านคน ที่ไม่สามารถหาอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีพได้

เพียงแค่ 2 วันหลังเกิดแผ่นดินไหว องค์การสหประชาชาติรายงานว่า ความช่วยเหลือถูกขัดขวางเนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์อย่างหนัก ขณะที่ทีมกู้ภัยในพื้นที่ต้องการอุปกรณ์เพิ่มเติมในการค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากอาคาร

แผ่นดินไหวยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปรับลดงบประมาณและจำนวนบุคลากรของหน่วยงานช่วยเหลือระหว่างประเทศ USAID ส่งผลให้พลเรือนชาวเมียนมากว่าล้านคนอาจเผชิญกับการถูกตัดงบประมาณช่วยเหลือจาก WFP

และแม้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มส่งทีมกู้ภัยและความช่วยเหลือมายังเมียนมา แต่ส่วนใหญ่ยังคงเน้นช่วยเหลือในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยผู้ติดอยู่ใต้ซากอาคาร ขณะที่ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆยังไม่เพียงพอ

ถอดบทเรียนเหตุแผ่นดินไหวพม่า : หายนะของประเทศที่ไม่พร้อมรับมือภัยพิบัติ

การปกครองของกองทัพ

กองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของ พลเอกมิน อ่อง หล่าย ได้สูญเสียการควบคุมหลายพื้นที่ของประเทศจากสงครามกลางเมือง แต่ยังคงมีอำนาจในเมืองใหญ่ เช่น มัณฑะเลย์ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากแผ่นดินไหว

อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหาร มีข้าราชการจำนวนมากเปลี่ยนฝ่ายและเข้าร่วมขบวนการต่อต้านรัฐบาลทหาร ทำให้ระบบราชการที่ล้าหลังอยู่แล้วยิ่งอ่อนแอลง การจัดการและกระจายความช่วยเหลือจึงเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ด้วยความรุนแรงของภัยพิบัติครั้งนี้ มิน อ่อง หล่าย ได้ออกแถลงการณ์ขอรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากรัฐบาลทหารในอดีตเคยปฏิเสธการช่วยเหลือจากต่างประเทศ

แต่ปัจจุบัน เมียนมาต้องเผชิญกับความยากจนขั้นรุนแรง เศรษฐกิจพังทลาย และมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายจากสงครามกลางเมืองยังส่งผลให้รัฐบาลทหารขาดแคลนงบประมาณ

ถอดบทเรียนเหตุแผ่นดินไหวพม่า : หายนะของประเทศที่ไม่พร้อมรับมือภัยพิบัติ

การควบคุมที่กระจัดกระจาย

พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมียนมา ถูกควบคุมโดยกองทัพเมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ และกองกำลังเพื่อประชาธิปไตยที่กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ ความซับซ้อนของกลุ่มที่ควบคุมพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีวาระทางการเมืองแตกต่างกัน อาจทำให้การกระจายความช่วยเหลือเป็นไปได้ยากขึ้นโดยเฉพาะในเมืองสะกาย  ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว เป็นพื้นที่ที่เกิดการสู้รบอย่างหนักระหว่างกองทัพและกลุ่มต่อต้าน

...

กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ กองกำลังท้องถิ่น และกองทัพเมียนมา ต่างพยายามแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ ทำให้เกิดความกังวลว่า อาจมีการแย่งชิงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย

ถอดบทเรียนเหตุแผ่นดินไหวพม่า : หายนะของประเทศที่ไม่พร้อมรับมือภัยพิบัติ

โครงสร้างพื้นฐานที่ล้าหลัง

กองทัพเมียนมาได้โจมตีโรงพยาบาลในพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มกบฏ ทำให้แพทย์จำนวนมาก ละทิ้งโรงพยาบาลของรัฐและเข้าร่วมขบวนการต่อต้าน

องค์การสหประชาชาติระบุว่า โรงพยาบาลในเมืองมัณฑะเลย์ มะเกว และกรุงเนปิดอว์กำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และไม่สามารถรองรับจำนวนผู้บาดเจ็บที่เพิ่มขึ้นได้

ก่อนเกิดแผ่นดินไหว เมียนมาก็ประสบปัญหาอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ขัดข้องอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ยิ่งทำให้ระบบสื่อสารเสียหายหนักขึ้น ทำให้ยากต่อการประสานงานช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ขณะนี้ การสื่อสารในมัณฑะเลย์เป็นไปอย่างยากลำบาก ส่วนเส้นทางคมนาคมทางบกและทางอากาศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหลังจากถนนหลายสายพังเสียหายจากแผ่นดินไหว นอกจากนี้ บ้านเรือนจำนวนมากพังถล่มลงมา องค์การสหประชาชาติและ NGO ต่างๆ กำลังหาทางช่วยเหลือผู้ที่กลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย

...

เมียนมาพร้อมรับมือแผ่นดินไหวแค่ไหน?

LATimes สัมภาษณ์ นูรุ้ล อลัม ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อภัยพิบัติ ซึ่งเคยทำงานที่ศูนย์เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติแห่งเอเชียในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับผลกระทบจากแผ่นดินไหว และสิ่งที่บ่งบอกถึงระดับความพร้อมรับมือภัยพิบัติในเอเชียและที่อื่นๆได้ข้อมูลว่า ในปี 2014 อลัมได้ทำการประเมินความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ทีมของเขาแนะนำให้รัฐบาลปรับปรุงมาตรฐานการก่อสร้างเพื่อให้โครงสร้างอาคารมีความทนทานมากขึ้น รวมถึงพัฒนาแผนรับมือแผ่นดินไหว เขาเชื่อว่าหากพวกเขาทำตามคำแนะนำ ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คงจะน้อยกว่านี้ เขาระบุว่าที่นั่นมีความเสี่ยงอยู่แล้ว อาคารมีความเปราะบาง และทุกคนก็รู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นสักวัน

ถอดบทเรียนเหตุแผ่นดินไหวพม่า : หายนะของประเทศที่ไม่พร้อมรับมือภัยพิบัติ

เปรียบเทียบความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวกับไทย

ประเทศไทยได้ปรับปรุง มาตรฐานการก่อสร้างต้านแผ่นดินไหวในปี 2007 และออกระเบียบเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างต้านแผ่นดินไหวฉบับใหม่ในปี 2021 ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็น ความเสียหายที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างหลัก เช่น ผนังกั้น ห้องติดตั้งอุปกรณ์ ไฟฟ้า และระบบประปา

...

อลัมระบุว่า คาน เสา และพื้นอาคารสามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนได้ แม้ว่าตึกสูงบางแห่งจะมีการสั่นไหวรุนแรงก็ตาม นั่นเป็นข้อบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีการปฏิบัติตามมาตรฐานการก่อสร้างเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมความเสียหายจึงไม่รุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าประชาชนยังไม่มีความพร้อมในการตอบสนองต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวเท่าที่ควร 

ถอดบทเรียนเหตุแผ่นดินไหวพม่า : หายนะของประเทศที่ไม่พร้อมรับมือภัยพิบัติ

การรับมือกับแผ่นดินไหวของประเทศอื่นในเอเชียเป็นอย่างไร?

อลัมกล่าวว่า ประเทศที่เผชิญกับแผ่นดินไหวบ่อยครั้งมักมีมาตรฐานการก่อสร้างและแผนรับมือที่แข็งแกร่งกว่า จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากแรงสั่นสะเทือนรุนแรง

ญี่ปุ่น มีกฎระเบียบด้านแผ่นดินไหวที่เข้มงวด และระบบเตือนภัยล่วงหน้า เนื่องจากเผชิญกับแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ส่วนไต้หวัน ซึ่งเป็นเกาะที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยเช่นกัน ก็มีมาตรการป้องกันที่ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตและความเสียหาย เช่น ในปีที่ผ่านมา แผ่นดินไหวขนาด 7.4 ที่ไต้หวัน ซึ่งสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ไกลถึงเซี่ยงไฮ้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพียง 18 ราย โดยเพียงหนึ่งวันก่อนแผ่นดินไหวในเมียนมา รัฐบาลไต้หวันได้จัดการซ้อมป้องกันภัยพิบัติระดับชาติ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งหลายประเทศยังสามารถพัฒนาแนวทางการรับมือให้ดีขึ้นได้

ตุรกี ที่เผชิญกับแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ในปี 2023 มีมาตรฐานแผ่นดินไหวที่เข้มงวดกว่าไทย แต่มีอัตราการปฏิบัติตามมาตรฐานที่ต่ำกว่า อาคารใน อินเดีย เนปาล และบังกลาเทศ มีความเปราะบางมากกว่า ในการประเมินความเสี่ยงครั้งหนึ่งที่กรุง ธากา ประเทศบังกลาเทศ พบว่า อาคารประมาณ 70,000 แห่งอาจพังถล่มจากแผ่นดินไหวขนาดเดียวกัน

ถอดบทเรียนเหตุแผ่นดินไหวพม่า : หายนะของประเทศที่ไม่พร้อมรับมือภัยพิบัติ

เมืองต่างๆ สามารถเตรียมตัวรับมือได้อย่างไร?

การประเมินความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวโดยละเอียด จะช่วยกำหนดว่ามาตรฐานการก่อสร้างที่ใช้อยู่เพียงพอหรือไม่ และหากต้องมีการเปลี่ยนแปลง ควรดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายก่อสร้างมักใช้เวลาหลายปี โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่สามารถ เสริมความแข็งแกร่งได้ โดยเฉพาะอาคารที่เคยได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ค่าใช้จ่ายในการเสริมความแข็งแกร่งมักอยู่ที่ประมาณ 30% ของต้นทุนการสร้างใหม่ และสามารถดำเนินการเป็นระยะๆ เพื่อให้อาคารยังคงใช้งานได้ แม้จะไม่สามารถหยุดแผ่นดินไหวได้ แต่ยังสามารถทำให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างมีความแข็งแกร่งและสามารถต้านทานภัยพิบัติได้ 

อลัมกล่าวเสริมว่า ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ปัญหาแผ่นดินไหวได้รับความสนใจมาก แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มกลบความสำคัญของแผ่นดินไหวไป แผ่นดินไหวกลายเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม ไม่มีใครกังวลเกี่ยวกับมันมากนัก จนกว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้น ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ในไทยหรือเมียนมา แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาทั่วโลก และครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลตื่นตัวขึ้น.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : channelnewsasia , Latimes

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ แผ่นดินไหว