กระแสข่าวดังนางร้ายหน้าสวยหลอกยืมสมบัติเพื่อนไฮโซ 62 ล้าน เอาไปจำนำใช้หนี้นอกระบบ สะท้อนให้เห็นถึงภัยจากการโกหกของคนใกล้ตัว ที่ทำให้ต้องเสียน้ำตาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยุคนี้จะคบใครต้องมีเครื่องมือจับโป๊ะ เพื่อพิสูจน์ความจริงใจ และป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนลวงโลก
“ดร.เดวิด เจ. ไลเบอร์แมน” นักพฤติกรรมศาสตร์ชื่อดังระดับโลก เขียนหนังสือ “คู่มือจับโกหก” แนะเทคนิคการจับพิรุธคนโกหก ฝึกให้คล่องรับรองว่าจะสแกนหาความจริงได้ภายใน 5 นาที
เทคนิคแรกในการจับพิรุธคนโกหก “ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ” การไม่ยอมสบตา หรือหลบหน้า คือสัญญาณแห่งการหลอกลวงที่อมตะที่สุด คนที่กำลังโกหกจะทำทุกอย่างเพื่อจะไม่ต้องสบตาคุณ เพราะกลัวว่าคุณจะอ่านใจเขาออก และเพราะ รู้สึกผิด จึงไม่อยากเผชิญหน้ากับคุณตรงๆ แต่จะมองลงข้างล่าง หรือกลอกตาไปมาแทน ถ้าเรากำลังพูดความจริง เราจะจ้องตาคนที่กล่าวหาเราอย่างไม่กะพริบตา
“ร่างกายโกหกไม่เป็น” การไม่เคลื่อนไหวคือพิรุธสำคัญที่บ่งบอกถึงเค้าลางของการโกหก และปกปิดความจริง โดยเฉพาะมือและแขนบอกถึงการหลอกลวงได้อย่างดีเยี่ยมที่สุด เพราะมองเห็นได้ง่ายกว่าเท้าและขา เมื่อใครบางคนกำลังโกหก เขาจะไม่แสดงออกทางร่างกายด้วยการขยับแขนและมือ แต่จะเก็บมือ, แขน และขาให้ชิดลำตัว พร้อมกับพยายามใช้เนื้อที่น้อยลง
ถ้านั่งก็อาจวางมือไว้บนตัก ถ้ายืนก็อาจเอามือล้วงกระเป๋า หรือกำแน่น เพื่อซ่อนนิ้วไว้ในฝ่ามือ เพราะปกติการเหยียดนิ้วออกเป็นหนึ่งในอากัปกิริยาที่แสดงให้เห็นถึงความเปิดเผย คนที่ไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองพูดจะสะท้อนผ่านภาษากาย โดยแสดงออกทางร่างกายน้อยที่สุด ถ้าเจอใครสักคนกำมือหรือคว่ำฝ่ามือลง นั่นเป็นสัญญาณของการป้องกันตนเอง หรือการหลบซ่อนความจริง ถ้าใครสักคนกำลังนั่งโดยที่เก็บแขนขาชิดลำตัว หรือกอดอกและไขว้ขาโดยไม่ได้ยื่นออกไปข้างหน้า เขากำลังบอกให้รู้ว่าฉันซุกซ่อนอะไรบางอย่างอยู่ การกอดอกและไขว้ขายังบ่งบอกว่าต้องการปกป้องตัวเอง
...
“การปิดบังส่วนต่างๆของใบหน้าโดยไม่รู้ตัว” อีกหนึ่งเบาะแสที่บ่งบอกถึงการโกหก คือการยกมือขึ้นมาบังปากไว้ขณะพูด หรือยกมือขึ้นมาแตะจมูก และการเกาใบหูด้านหลัง เขาอาจจะยกมือขึ้นมาแตะใบหน้าหรือลำคอด้วย นี่แหละพิรุธของคนโกหกหลอกลวง
“เอาคำพูดของคุณมาเป็นคำแก้ตัว” คนโกหกจะเอาคำพูดของคุณมาแก้ต่างให้ตัวเอง คนที่ถูกกล่าวหาไม่มีเวลาที่จะคิด การโดนจับผิดโดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้เขาต้องตอบกลับไปด้วยการพูดซ้ำคำพูดของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่อยู่ในรูปของการปฏิเสธ ยกตัวอย่างถ้าภรรยาถามสามีว่า “เธอนอกใจฉันหรือเปล่า” คนโกหกจะตอบรัวเร็วว่า “เปล่าฉันไม่ได้นอกใจเธอ” คนที่ทำผิดมักอยากจะตอบให้เร็วที่สุด เพราะรู้สึกว่าถ้าตอบช้า เขาจะยิ่งดูมีพิรุธมากขึ้น สำหรับคนทำผิดจะรู้สึกว่า กว่าแต่ละวินาทีจะผ่านไปมันช่างยาวนานจนแทบขาดใจ
“ยิ่งเงียบยิ่งพูด” เมื่อใครบางคนถูกซักถาม ให้สังเกตว่าเขาพยายามตอบคำถามด้วยการพูดไม่หยุดหรือเปล่า ทั้งๆที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้พูด นั่นล่ะกลิ่นตุๆของการโกหกกำลังโชยมาแล้ว ยิ่งเราเงียบ เขาจะยิ่งกระสับกระส่าย และพยายามพูดเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะพูดอะไรกับเขาสักอย่าง ที่ทำให้เขารู้ว่าเขาเกลี้ยกล่อมคุณสำเร็จแล้ว
“การพูดพึมพำ” คนที่โกหกมักพูดพึมพำและเสียงค่อยกว่าเวลาที่เขามั่นใจในคำพูดของตัวเอง กระนั้น ด้วยความกลัวมันก็เป็นไปได้เช่นกันที่เขาจะพูดดังและรัวเร็วขึ้นเพื่อปกปิดความจริง พิรุธนี้ต้องเปรียบเทียบกับนิสัยใจคอปกติ
“อย่าไปเชื่อคนที่ชอบพูดแบบนี้” ไม่ว่าจะพูดอะไรต้องเปิดประโยคด้วยคำว่า “โดยสัตย์จริงแล้ว” หรือ “พูดตรงๆแล้ว” หรือ “จริงๆแล้ว” ขอให้สันนิษฐานว่าเรื่องทุกอย่างที่เขาเล่าก่อนหน้านี้ล้วนโกหกทั้งเพ และเขากำลังจะโกหกคุณต่อไปเรื่อยๆ ใครที่ชอบพูดว่า “ทำไมฉันต้องโกหกคุณด้วย” หรือ “ผมไม่เคยโกหกเลย” ก็ให้สงสัยว่าเจอคนโกหกมืออาชีพเข้าแล้ว
ไม่อยากเสียใจเพราะถูกหลอก ถูกทรยศหักหลัง ต้องหัดพัฒนาตัวเองให้เป็น “เครื่องจับโกหก” จะได้ส่องหาพิรุธให้เจอ ชิงตัดไฟแต่ต้นลม.
มิสแซฟไฟร์
คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม