นับแต่การระบาดของโรคโควิด-19 วัฒนธรรมในการทำงานของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) หรือการทำงานจากที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ กลายเป็นปัจจัยหลักที่หลายคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z (กลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 2540-2555)
แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมการทำงานได้เปลี่ยนไปอีกครั้ง นั่นคือ “Task Masking” หรือ “การแกล้งทำเป็นงานยุ่ง” ตัวอย่างเช่น การนั่งพิมพ์งานเสียงดัง ใส่หูฟังทำท่าว่ากำลังประชุมออนไลน์ หรือการเดินไปมาในออฟฟิศในขณะที่กำลังคุยโทรศัพท์ไปด้วย เพื่อให้ดูเหมือนว่ายุ่งสุดๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งเทรนด์การแกล้งยุ่งนี้มักพบเห็นได้ในกลุ่ม Gen Z เป็นส่วนใหญ่
ด้านเบธ โฮป ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะการเป็นผู้นำเผยกับหนังสือพิมพ์เมโทรของอังกฤษว่า แม้ว่าการแกล้งยุ่งจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่เทรนด์นี้ได้กลับมาอีกครั้งในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทาลง ทำให้ผู้ว่าจ้างหลายรายปรับนโยบายการทำงานจากที่บ้าน ให้กลับมานั่งทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยสร้าง “ผลิตภาพ” (Productivity) และเป็นผลดีต่อบริษัทมากกว่า
การแกล้งทำเป็นงานยุ่งอาจมีเบื้องหลังที่มากกว่าการมองว่า เพราะลูกจ้างก็แค่ขี้เกียจทำงาน เลยต้องทำตัวยุ่งๆเข้าไว้จะได้ไม่มีใครให้งานเพิ่ม โดยเบธ โฮป ระบุว่า คนรุ่นใหม่เริ่มต้นเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน ด้วยการทำงานจากที่ใดก็ได้ ดังนั้นพฤติกรรมเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นว่ากำลังพยายามปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมการทำงานที่ออฟฟิศ หรือเป็นเพราะไม่เห็นภาพว่า ความคาดหวังของงานเป็นอย่างไร หรือขาดการชี้แนะในการทำงาน การแกล้งยุ่งจึงกลายเป็นกลไกป้องกันตัวเองเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กร หรือเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในที่ทำงาน
...
อย่างไรก็ตาม เบธ โฮป ยังทิ้งท้ายว่า แทนที่จะไปจับผิดว่าใครแกล้งยุ่ง เราควรมาคิดกันเสียใหม่ว่า Productivity ควรเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และทำให้คนในทุกช่วงวัยสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม