หลังการเลือกตั้งเยอรมนีเมื่อวันที่ 23 ก.พ. จบลง ดูเหมือนว่าถึงทีเปลี่ยนแปลงทั้งตัวผู้นำและนโยบาย
นายฟรีดริช แมร์ซ ผู้นำพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) วัย 69 ปี เตรียมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทายสารพัด ทั้งความขัดแย้งแตกแยกในประเด็นผู้อพยพและความมั่นคง รวมไปถึงวิกฤติเศรษฐกิจ จากที่เคยแข็งแกร่งเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคน่าอิจฉามาถึงวันที่เศรษฐกิจเติบโตต่อปี 2% เพียงแค่ครั้งเดียวนับแต่ปี 2560
ตลอดช่วงหาเสียงที่ผ่านมาแมร์ซได้ประกาศจะ “รีเซ็ตนโยบายเศรษฐกิจ” ของเยอรมนี หลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผสมของนายโอลาฟ โชลซ์ อย่างหนักว่าดำเนินนโยบายผิดพลาดทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะงักงันและซบเซา บริษัทหลายแห่งต้องปิดโรงงาน ปลดคนงาน โดยเสนอนโยบายที่เป็นมิตรต่อธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราภาษีนิติบุคคล จัดหาพลังงานราคาย่อมเยา มุ่งเน้นไปที่การวิจัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ลดกฎระเบียบที่ซับซ้อนเชื่องช้า เพิ่มการลงทุน และตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเป็นผู้นำในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมของประเทศผ่านการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล
แมร์ซยังชูประเด็นการ ยกเครื่องนโยบายคนเข้าเมืองครั้งใหญ่ สัญญาว่าจะทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อควบคุมชายแดนลดการอพยพอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับจะเร่งกระบวนการเนรเทศผู้ขอลี้ภัยที่ถูกปฏิเสธ ยังเคยประกาศกร้าวว่าชาวซีเรียและชาวอัฟกันที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย รวมถึงผู้อพยพที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงจะถูกเนรเทศไปยังประเทศบ้านเกิดของตน ส่วนในด้านนโยบายต่างประเทศ แมร์ซยังส่งสัญญาณถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทร แอตแลนติก และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลอย่างเข้มแข็งเช่นเดียวกับการช่วยเหลือเสริมศักยภาพทางทหารให้ยูเครน
...
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแมร์ซได้รับเสียงชื่นชมด้านสติปัญญาอันเฉียบแหลมและมีความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ เคยเป็นผู้พิพากษาและทนายความ และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการลงทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯอย่างแบล็กร็อก กระนั้นก็ยังถูกวิจารณ์ว่ายังขาดไหวพริบทางการเมืองอยู่เป็นครั้งคราว รวมทั้งยังถูกมองว่าไม่เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารทั้งในระดับรัฐหรือในฐานะรัฐมนตรีของรัฐบาลกลาง ทั้งที่อยู่ในสายอาชีพการเมืองมายาวนาน อนาคตของเยอรมนีจะหันเหไปทิศทางใด อีกไม่นานคงได้รู้กัน.
อมรดา พงศ์อุทัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม