กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจขยับเข็ม "นาฬิกาวันสิ้นโลก" อยู่ห่างจากเที่ยงคืน หรือ หายนะ ที่ 89 วินาที เนื่องจากมองเห็นปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่โลกกำลังเผชิญความเสี่ยงเข้าใกล้หายนะ โดยเวลาที่ถูกปรับลดลงเป็นการสะท้อนถึงสถานการณ์โลกที่เลวร้ายลง
วันที่ 29 มกราคม 2568 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากองค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์ด้านปรมาณู (The Bulletin of the Atomic Scientists-BAS) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ ประกาศว่า เข็มของ "ดูมส์เดย์ คล็อก" (Doomsday Clock) หรือ "นาฬิกาวันสิ้นโลก" ปี 2567 ได้ถูกขยับมาอยู่ที่ 89 วินาทีก่อนถึงหายนะ จากเดิมอยู่ที่ 90 วินาทีก่อนหายนะตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
นายแดเนียล โฮลซ์ ประธานองค์การ BAS ให้เหตุผลในการขยับเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกมาอยู่ที่ 89 วินาทีก่อนถึงเที่ยงคืนว่า เป็นเพราะในปีที่ผ่านมาไม่เห็นความคืบหน้าที่เพียงพอ หรือความคืบหน้าเชิงบวกสำหรับความท้าทายระดับโลกที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยคุกคามทางชีวภาพ และความก้าวหน้าในเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ส่วนเหตุผลอื่นๆ ไดแก่ สงครามในยูเครนซึ่งอาจทำให้สถานการณ์บานปลายไปถึงขั้นสงครามนิวเคลียร์ การขาดการลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพใหม่
ทั้งนี้ BAS ใช้นาฬิกาวันสิ้นโลกเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นไปได้และความเป็นไปได้ที่ผู้คนจะทำบางอย่างเพื่อยุติมนุษยชาติ ตั้งแต่ปี 1947 โดยจะพิจารณาเรื่องการปรับเข็มนาฬิกาเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ว่า โลกเสี่ยงเข้าใกล้หายนะวันสิ้นโลกมาเพียงใด โดยเวลาที่ลดลงจะสะท้อนถึงสถานการณ์โลกที่เลวร้ายลง.
...