ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ไปร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ปีนี้มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง

คือผู้นำประเทศหลายประเทศและนักธุรกิจระดับโลกไปร่วมประชุมน้อยกว่าปกติ เพราะที่ผ่านมาจะไปร่วมประชุมกันจำนวนมาก

ทำให้ปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควรจะว่าติดงาน “ทรัมป์” ก็ไม่ใช่

น่าจะเป็นว่าเวทีนี้ลดความขลังไปแล้ว คือไม่ได้อะไรมากนักแต่การที่ผู้นำไทยไปร่วมประชุมคงคิดว่ามีประโยชน์เพราะอย่างน้อยก็ได้พบกับนักธุรกิจบริษัทดังๆหลายคน

ความจริงก็ไม่ได้มีอะไรเพียงแต่ว่าเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในปัจจุบันนั้น

ถ้าไม่ได้ประโยชน์สูงสุดก็ย่อมเสื่อมไปตามสภาพ...

อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศคนใหม่ เนื่องจากเป็น “มหาอำนาจ” ของโลก พอขยับอะไรก็มีผลต่อการ เปลี่ยนแปลงโลกทันที

หลังจากที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ทำพิธีสาบานตนเพื่อปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการก็เดินหน้าปฏิบัติภารกิจตามที่ประกาศไว้ทันที

แม้จะมีการลงนามคำสั่งเปลี่ยนแปลงทันทีแต่ยังมีบางอย่างบางเรื่องที่ยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเพียงแต่ชะลอไว้ก่อนเท่านั้น

อย่างที่ประกาศว่าจะตั้งเพดานภาษีประเทศต่างๆทุกประเทศโดยเฉพาะจีน 60% ประเทศอื่นๆที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯก็จะขึ้นภาษี 10-20% เป็นอย่างน้อย

ปรากฏว่ายังไม่มีคำสั่งออกมาเพียงขึ้นภาษีจีนแค่ 10% เท่านั้น

และที่ตามมาคือขึ้นภาษีแคนาดาและเม็กซิโกประเทศละ 25% ให้เหตุผลว่าประเทศเหล่านี้ส่งยาเสพติดเข้าสหรัฐฯ

ประเทศต่างๆทั่วโลกก็สบายใจหน่อยเพราะยังมีเวลาคิดอ่านและหาทางเจรจาเพื่อให้สหรัฐฯผ่อนปรน

ประเด็นก็คือที่เกรงกันว่าจะเกิดสงครามการค้าในทันทีก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ต่อไปคงจะเกิดขึ้นแน่ เพราะเมื่อประกาศไปแล้วก็ต้องทำ

...

นี่เป็นวิธีของนักธุรกิจเพื่อใช้ต่อรอง!

ซึ่งประเทศต่างๆคงจะต้องวิ่งเข้าหาเพื่อขอเจรจาจะทำให้สหรัฐฯสามารถเรียกร้องในสิ่งที่ตนต้องการเพื่อแลกเปลี่ยน

แต่เรื่องผู้อพยพจากเม็กซิโกและแคนาดานั้นไม่มีทางเพราะแต่เริ่มต้นก็สั่งประกาศปิดพื้นที่ส่งทหารเข้าไปควบคุมแล้ว

นอกจากนั้น “ทรัมป์” ได้ประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก เนื่องจากให้เงินสนับสนุนจำนวนมากแต่กรณีโควิดระบาดไม่ได้ดูแลสหรัฐฯเท่าที่ควร

หรือการไม่ร่วมมือกับข้อตกลงเรื่องโลกร้อนที่ปารีส ตรงกันข้ามได้สั่งให้ขุดเอาน้ำมัน ก๊าซขึ้นมาใช้ได้เต็มที่ เท่ากับไม่เห็นด้วยกับเรื่องพลังงานสะอาด

ประเด็นที่ไทยควรจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อนโยบายของสหรัฐฯจากนี้ไปก็คือต้องหาทางสร้างสัมพันธ์กับรัฐมนตรีและบุคคลที่สนิทและมีอิทธิพลต่อ “ทรัมป์” เพื่อเจรจาต่อรองให้เกิดประโยชน์ต่อไทยอย่างสูงสุด

วันนี้จึงต้องตั้งทีมงานเพื่อศึกษาและหาช่องทางไว้แต่เนิ่นๆ ที่บอกว่าจะแพ็กทีมกับอาเซียนเพื่อสร้างพลังต่อรองนั้นคงเป็นเรื่องยาก

วันนี้ต้องช่วยตัวเองเอาไว้ก่อน!

มีช่องหนึ่งที่น่าจะทำให้เข้าถึงได้คือการที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ได้พูดถึงประเทศไทยว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนานโดยขอให้ไทยอย่าส่ง “อุยกูร์” กว่า 40 คนให้จีน

ไทยน่าจะสนองรับได้และไม่เสียไมตรีกับจีนเพราะสามารถอธิบายได้

เรื่องนี้จะทำให้ไทยใช้เป็นประเด็นเพื่อนำไปต่อรองเจรจาเรื่องอื่นๆว่าไทยให้แล้วนะเรื่องอื่นๆจะต้องให้ไทยบ้าง

จะคิดอะไรทำอะไรก็ต้องรีบแล้วเพราะเดี๋ยวจะตกขบวน!

"สายล่อฟ้า"

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม