• ไฟป่าแอลเอที่ยังคงลุกไหม้เผาทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า นอกจากจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลแล้ว ยังสร้างปัญหาด้านสุขภาพในระยะยาวแบบประเมินมูลค่าไม่ได้อีกด้วย
  • ไฟป่าที่รุนแรง ย่อมทำให้เกิดการสะสมของมลพิษ โดยเฉพาะฝุ่นละอองเล็ก ๆ ที่แทรกซึมในอากาศที่เราหายใจ ทั้งฝุ่นละออง PM10 ที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ลึกและก่อให้เกิดมะเร็งและโรคหัวใจ และ PM2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 4 เท่า สามารถเข้าสู่กระแสเลือดและไปถึงเกือบทุกเนื้อเยื่อในร่างกาย
  • ทุกปี มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100,000 คนจากการสูดดม PM2.5 ที่เกิดจากไฟป่า โดยผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ยากจน เช่น อเมริกากลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกาใต้

ไฟป่าแอลเอที่ยังคงลุกไหม้เผาทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า นอกจากจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลแล้ว ยังสร้างปัญหาด้านสุขภาพในระยะยาวแบบประเมินมูลค่าไม่ได้อีกด้วย

ไฟป่าที่รุนแรง ย่อมทำให้เกิดการสะสมของมลพิษ โดยเฉพาะฝุ่นละอองเล็ก ๆ ที่แทรกซึมในอากาศที่เราหายใจ ทั้งฝุ่นละออง PM10 ที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ลึกและก่อให้เกิดมะเร็งและโรคหัวใจ และ PM2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 4 เท่า สามารถเข้าสู่กระแสเลือดและไปถึงเกือบทุกเนื้อเยื่อในร่างกาย

ทุกปี มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100,000 คนจากการสูดดม PM2.5 ที่เกิดจากไฟป่า โดยผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ยากจนกว่า เช่น อเมริกากลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกาใต้

...

ภัยร้ายแรงต่อชีวิตมนุษย์

ผลกระทบของไฟป่าต่อชีวิตมนุษย์จะอยู่ยาวนานแม้ว่าไฟจะดับไปแล้ว โดยระหว่างปี 2000 ถึง 2023 มีผู้เสียชีวิตจากไฟป่าทั่วโลกประมาณ 1,890 คน ทั้งในยุโรปตอนใต้ อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย

ในแคลิฟอร์เนียเอง ควันไฟที่ปกคลุมอากาศจะเป็นตัวทำลายสุขภาพมนุษย์มากที่สุด จากการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ระหว่างปี 2008 ถึง 2018 มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรในรัฐนี้ประมาณ 55,000 รายเนื่องจาก PM2.5 จากไฟป่า ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่มากกว่าการเกิดอุบัติเหตุบนถนน และเสี่ยงมากกว่าการฆาตกรรม

โดยเขม่าควันไฟปริมาณมากสามารถแผ่ขยายไปทั่วโลก อย่างชาวสิงคโปร์สูดซากป่าของอินโดนีเซีย ขณะที่ชาวนิวยอร์กมองเห็นแสงอาทิตย์ถูกบดบังด้วยฝุ่นจากไฟป่าในป่าโบราณของแคนาดา และในเดลี เมืองใหญ่ที่มีประชากร 33 ล้านคน ถูกปกคลุมด้วยควันจากการเผาทุ่งนาข้าวในทุกฤดูเก็บเกี่ยว

ผลกระทบของไฟป่าต่อสุขภาพจิต

ดร.โจตี มิศรา รองผู้อำนวยการสภาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไฟป่ามีแนวโน้มที่จะเกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า และความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ที่อยู่ในชุมชนที่ไม่ได้รับผลกระทบ

โดยผลกระทบในระยะสั้น จะทำให้ผู้คนที่ประสบเหตุรู้สึกเครียด โกรธ เศร้า ช็อก ซึมเศร้า และหงุดหงิด บางคนอาจเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หรือมีฝันร้าย และบางคนอาจพึ่งพายาเสพติดหรือแอลกอฮอล์เพื่อเยียวยาตนเอง

ส่วนในระยะยาว อาจะเกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และบาดแผลทางจิตใจสามารถส่งผลต่อผู้คนมากขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่เคยมีปัญหาสุขภาพจิตมาก่อนก็ตาม งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า PTSD อาจคงอยู่นานถึงสามเดือนหรือแม้กระทั่งเป็นทศวรรษหลังจากไฟป่าโดยอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากไฟป่าผ่านพ้นไปเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนหรือแม้กระทั่งหลายปี

ดร.หยาง หลิว ประธานแผนกสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยเอโมรี กล่าวว่า ควันไฟเองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต โดยงานวิจัยของเขาในปี 2024 แสดงความเชื่อมโยงระหว่างการเข้ารับการรักษาในแผนกฉุกเฉินสำหรับโรควิตกกังวลกับการสัมผัสควันไฟป่า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง เด็กผู้หญิง และผู้สูงอายุ เพราะการสูดดมควันจำนวนมากอาจกระตุ้นโรควิตกกังวลได้ ยิ่งระดับคุณภาพอากาศของลอสแอนเจลิสสูงกว่ามาตรฐานระดับชาติ 10 ถึง 20 เท่า ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปกป้องตัวเองจากควันพิษเหล่านี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

...

การดูแลสุขภาพจิตและกาย

หลิวแนะนำให้ผู้คนป้องกันตัวเองโดยการหลีกเลี่ยงควันไฟ เช่น ปิดหน้าต่าง หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และใช้เครื่องฟอกอากาศ HEPA ในบ้านหากมี

ขณะที่เด็ก ๆ ควรได้รับการปกป้องเช่นกัน โดยดร.ซาบรินา เรนเทอเรีย จากศูนย์การแพทย์ ซีดาร์ -ซีไนกล่าวว่า การเปิดอกพูดคุยกับเด็กและช่วยพวกเขาจัดการกับอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ โดยพ่อแม่ต้องดูแลตัวเอง เพราะเด็กมักเลียนแบบการตอบสนองของผู้ใหญ่ การทำกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การฟังเพลง การฝึกหายใจลึก หรือการทำสมาธิสามารถช่วยลดความเครียดได้ และหากมีอาการผิดปกติควรไปปรึกษาจิตแพทย์

การเยียวยาทางจิตใจและชุมชน

การมีส่วนร่วมในกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนหรือพูดคุยกับผู้อื่นที่มีประสบการณ์คล้ายกันสามารถช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจได้ มิศราย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อสร้างการเยียวยาอย่างร่วมกัน เพราะเหตุไฟป่าไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่ไฟป่าอาจเกิดขึ้นกับประชาชนในทุกพื้นที่

มุมมองต่ออนาคต

ถึงแม้พื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ทุกปีจะลดลง 27% ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดจากมนุษย์จะเพิ่มความรุนแรงให้วงจรของฤดูแล้งและฤดูฝน และกลายเป็นเชื้อเพลิงเมื่อเกิดภัยแล้ง

การหยุดยั้งภัยพิบัติเหล่านี้คงไม่สามารถทำได้ในเร็ววัน และผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น โรคปอดและโรคหัวใจ จะอยู่ไปอีกหลายทศวรรษ ขณะที่ความเสียหายต่อบรรยากาศโลกยิ่งต้องใช้เวลาหลายศตวรรษในการฟื้นฟู.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : CNN , channelnewsasia

...

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ รายงานพิเศษ