เรื่องความสวยงามเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญมาก การจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามก็ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งหนึ่งในผู้ผลิตที่ได้รับความนิยมมากคือ เกาหลีใต้ หรือเค-บิวตี้ (K-Beauty)

กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาของเกาหลีใต้เผยว่า ในปี 2567 เกาหลีใต้ส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมความงามสูงถึง 10,200 ล้านดอลลาร์ โดยมีมูลค่าทะลุหมื่นล้านในรอบ 12 ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.6% ซึ่งเคยอยู่ที่ 8,460 ล้านดอลลาร์ เมื่อจำแนกตามประเภทสินค้า พบว่ามีการส่งออกผลิตภัณฑ์ดูแลผิว หรือสกินแคร์มากที่สุด ทำมูลค่าถึง 7,670 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยเครื่องสำอาง 1,350 ล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว 470 ล้านดอลลาร์

สำหรับชาติที่เกาหลีใต้ส่งออกสินค้าความงามมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน คิดเป็นประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 24.5% ของการส่งออกเค-บิวตี้ของเกาหลีใต้ทั้งหมด แม้จะลดลงจากปีก่อนที่เคยอยู่ที่ 2,800 ล้านดอลลาร์ แต่จีนยังคงเป็นผู้นำเข้ามากสุด รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา 1,900 ล้านดอลลาร์ สามารถแซงการนำเข้าสินค้าประเภทเดียวกันจากฝรั่งเศสไปได้ในช่วงเดือน ม.ค.ถึงเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว สินค้าที่ได้รับความนิยมมากคือสินค้าที่มีสรรพคุณในการชะลอวัย

ขณะที่ ญี่ปุ่น ยังคงติดอันดับท็อปเป็นปีที่ 3 โดยอยู่ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์ และแน่นอนว่าสินค้าเกาหลีก็สามารถเบียดสินค้าจากฝรั่งเศส ที่เคยครองในตลาดญี่ปุ่นมาเกือบ 30 ปีได้ ด้วยสีสันของผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงเทรนด์การแต่งหน้าและการดูแลผิวพรรณจากศิลปินเคป๊อป นอกจากนี้ยังมีชาติสำคัญที่เกาหลีใต้ส่งออกเค-บิวตี้จำนวนมาก เช่น ฮ่องกง เวียดนาม รัสเซีย ไต้หวัน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ส่วนการส่งออกสินค้าเค-บิวตี้มาที่ไทย สำนักงานศุลกากรเกาหลีใต้เผยว่า ในเดือน ม.ค.-ก.ย. ปี 2567 มีการส่งออกสกินแคร์ 49.9 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงท้ายของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือปี 2565 ที่ทำยอดขายได้เกือบ 44 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เครื่องสำอางเคยอยู่ที่ราว 5 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค.-ก.ค. ปีที่แล้ว ยังมียอดสั่งซื้อสินค้าเค-บิวตี้ เช่น COSRX และ VT Cosmetics ผ่านทางออนไลน์สูงถึง 191% จนบริษัทอีคอมเมิร์ซอย่างช็อปปี้ในเกาหลีใต้ คาดว่าเค-บิวตี้ในไทยจะเติบโตถึง 300% ภายในปี 2568.

...

ญาทิตา เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม