เสาร์ 11 มกราคม 2025 เวลา 20.00 น. มีสนทนาวิชาการเรื่อง ‘เส้นแบ่งอำนาจและความขัดแย้ง : ความรุนแรงในยุคที่โลกเชื่อมโยงกัน’ ที่โรงเรียนสอนศาสนาศาสนูปถัมภ์ เขตประเวศ กรุงเทพฯ โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ดร.อนุชา เจริญโพธิ์ และ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย การเสวนาเป็นส่วนหนึ่งของงานวันเมตตาศาสนูปถัมภ์ ครั้งที่ 43 ท่านใดสนใจเชิญเข้าร่วมงานได้ครับ
ประเทศที่กำลังหนาวๆ ร้อนๆ คือราชอาณาจักรเดนมาร์ก เพราะแผ่นดินของตนเองเป็นที่หมายปองของประเทศมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกอย่างสหรัฐฯ ค.ศ.2019 ขณะดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯสมัยแรก ทรัมป์เสนอแนวคิดการซื้อเกาะกรีนแลนด์ โดยบอกว่าการครอบครองเกาะนี้จะมีความสำคัญต่อสหรัฐฯเป็นอย่างมาก
ทันทีที่ทรัมป์เสนอความคิดนี้ต่อสาธารณะก็สร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลเดนมาร์กซึ่งเป็นประเทศเล็กชาติน้อย นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กในขณะนั้นคือเมตเต เฟรเดอริกเซน พูดว่า ความคิดของทรัมป์ไร้สาระ
เมื่อเดือนธันวาคม 2024 ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ย้ำถึงความต้องการเกาะกรีนแลนด์อีกครั้งหนึ่งว่า สหรัฐฯต้องการจะซื้อเกาะนี้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงแห่งชาติและเสรีภาพของโลก สหรัฐฯมองว่าการควบคุมเกาะกรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ทันทีที่ทรัมป์พูดจบ มูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์ ได้ออกมาพูดว่า กรีนแลนด์เป็นของเรา ไม่ได้มีไว้ขาย และจะไม่มีวันขาย
กรีนแลนด์เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่มากถึง 2,166,086 ตารางกิโลเมตร แต่พื้นที่ร้อยละ 80 ถูกปกคลุมด้วย Greenland Ice Sheet หรือธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ บริเวณชายฝั่งของกรีนแลนด์เป็นภูเขาสูงชันและฟยอร์ดที่เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็ง ส่วนชายฝั่งตะวันตกของเกาะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐานและการทำประมง
...
แม้จะมีอากาศหนาวเย็น แต่กรีนแลนด์ก็มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ เต็มไปด้วยสังกะสี ทองแดง เหล็ก น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่ทำให้กรีนแลนด์เป็นที่หมายปองมากที่สุดก็คือเกาะนี้มีแรร์เอิร์ธหรือแร่หายากเป็นจำนวนมาก
หลายครั้งที่เราเขียนหรือพูดถึงนายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์ ก็มีคนสงสัยว่า อ้าว ก็เมื่อกรีนแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก จะมีนายกรัฐมนตรีของตนเองได้อย่างไร ขอเรียนถึงสถานะทางการเมืองครับ กรีนแลนด์เป็นดินแดนปกครองตนเองของราชอาณาจักรเดนมาร์ก มีอำนาจปกครองตนเองในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ อยู่ภายใต้การดูแลของเดนมาร์กเพียงแค่ด้านการต่างประเทศและการป้องกันประเทศเท่านั้น
ที่ทรัมป์พูดถึงความสำคัญของกรีนแลนด์บ่อยๆ ก็เพราะเกาะกรีนแลนด์ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและอาร์กติก ทางเหนือของเกาะเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศของสหรัฐฯที่ใช้ในการตรวจจับขีปนาวุธ การที่มีพื้นที่ถึง 2 ล้านตารางกิโลเมตรทำให้กรีนแลนด์มีความใหญ่เท่ากับอาร์เจนตินา (2.7 ล้าน ตร.กม.) คาซัคสถาน (2.7) แอลจีเรีย (2.3) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (2.3) ซาอุดีอาระเบีย (2.1) ทำให้กรีนแลนด์สามารถตั้งเป็นประเทศเอกราชของตนเองได้ในอนาคต ปัญหาของกรีนแลนด์คือประชากร เพราะขณะนี้มีประชากรเพียง 5.6 หมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินูอิต
สหรัฐฯเคยโยนหินถามทางเกี่ยวกับการอยากได้ดินแดน แล้วก็ประสบความสำเร็จมาหลายครั้ง เช่น การซื้อดินแดนอลาสกาจากจักรวรรดิรัสเซียเมื่อ 30 มีนาคม 1867 ด้วยมูลค่า 7.2 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2 เซนต์ต่อเอเคอร์ ทำให้อลาสกากลายเป็นรัฐที่ 49 ของสหรัฐฯอย่างเป็นทางการเมื่อ 3 มกราคม 1959
ในปีเดียวกันกับที่สถาปนาอลาสกาเป็นรัฐที่ 49 สหรัฐฯก็ได้ผนวกหมู่เกาะฮาวายเป็นรัฐที่ 50 อย่างเป็นทางการเมื่อ 21 สิงหาคม 1959 โดยเริ่มจากการให้นักธุรกิจชาวอเมริกันไปล้มราชวงศ์คาเมฮาเมฮาและโค่นล้มราชินีลิลีอูโอคาลานี เมื่อราชินีถูกบังคับให้สละราชสมบัติแล้ว สหรัฐฯก็จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น และผนวกฮาวายเป็นดินแดนของสหรัฐฯอย่างเป็นทางการผ่านสนธิสัญญา Newlands Resolution สิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯในตอนนั้นพูดเป็นประโยคเดียวกับที่ทรัมป์พูดใน ค.ศ.2019 และ 2024 คือ ฮาวายมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ถ้าได้ฮาวาย สหรัฐฯก็จะมีความมั่นคงทางทหารและฐานทัพเรือในมหาสมุทรแปซิฟิก
หลายคนมีความเชื่อว่า ต่อไปในอนาคต กรีนแลนด์ไม่พ้นที่จะเป็นรัฐใหม่ของสหรัฐฯ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม