กลยุทธ์การทำศึกย่อมแปรผันไปตามอาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีในขณะนั้น และทำให้มีตำราการรบใหม่ๆเกิดขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ
หนึ่งในนั้นคือตำราการรับมือ “โดรนพิฆาต” ของทางกองทัพรัสเซีย ที่เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ของเหล่าทหารในแนวหน้าสมรภูมิ “ยูเครน” ที่ยืดเยื้อและกำลังเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งถือเป็นตำราที่มีความน่าสนใจ และแสดงให้เห็นว่าการรบยุคปัจจุบันมีความน่ากลัวที่เกินจะคาดคิด
เริ่มจากการให้ทหารในสนามรบทำความเข้าใจว่า โดรนไร้คนที่วนเวียนอยู่เต็มสนามรบ จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือโดรนสำหรับ “สอดแนม” สังเกตการณ์ กับโดรนสำหรับการโจมตีหรือ “โดรนพิฆาต” ทีนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าข้าศึกจะตัดใจใช้งานเช่นไร ซึ่งตลอดการรบที่ผ่านมา ทำให้พบว่ามีรูปแบบอยู่นับสิบวิธี
1.วิธีคลาสสิก มีทหารข้าศึกเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ 2 นายคนแรกใช้โดรนสอดแนมทำหน้าที่ “ชี้เป้า” เพื่อให้คนบังคับโดรนพิฆาตดำเนินการโจมตี ตามด้วย 2.ไล่ล่าแบบอิสระ คนบังคับโดรนบรรทุกวัตถุระเบิด นำโดรนพิฆาตออกบินลาดตระเวนหาเหยื่อด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาการชี้เป้าหมาย
3.การซุ่มโจมตีด้วยโดรนในเวลากลางคืน ตัวโดรนพิฆาตจะถูกติดตั้งด้วยระบบจับความร้อน และบินไปซุ่มรอตามบ้านร้างหรือซากปรักหักพัง รอเวลาที่โดรนสอดแนมพบเห็นความเคลื่อนไหวของขบวนรถศัตรู จึงส่งสัญญาณเริ่มปฏิบัติการ 4.การโจมตีลูกผสม โดรนพิฆาตเข้าพุ่งชนรถถังหรือยานเกราะให้หยุดเคลื่อนไหว จากนั้นพอทหารที่อยู่ในรถออกมา ก็จะตามด้วยโดรนทิ้งระเบิด นำลูกระเบิดหรือลูกปืนครกไปหย่อนสังหาร
5.วิธีทุบสองครั้ง ใช้โดรนพิฆาตติดลูกจรวดอาร์พีจีพุ่งชนทำลายแผ่นไม้หรือสิ่งกีดขวางที่ทหารข้าศึกนำไปขึงกันหน้าต่างของตัวอาคาร เพื่อเปิดทางให้โดรนติดระเบิดเพลิงพุ่งตามเข้าไป 6.กับดักโดรน นำโดรนติดระเบิดไปจอดทิ้งไว้ พอข้าศึกมาเก็บกู้จึงทำการส่งสัญญาณจุดชนวนผ่านโดรนสอดแนมที่เฝ้ามองอยู่
...
7.ลอบวางกับระเบิด สำรวจเส้นทางการลำเลียงคนเจ็บออกจากสนามรบ และใช้โดรนบรรทุกกับระเบิดไปวางดักไว้ คนที่จะรอดกลับไม่รอดแถมทำให้มีคนเจ็บเพิ่มขึ้นอีก 8.โดรนเคลียร์ทาง นำโดรนไปหย่อนระเบิดมือใส่ในเส้นทางที่สงสัยว่าข้าศึกมีการวางกับระเบิดเอาไว้
9.โดรนมังกร นำระเบิดฟอสฟอรัสติดกับโดรนพิฆาต เผาทำลายแนวป่าและฐานที่มั่นของข้าศึก บีบให้ทหารหนีออกมาในพื้นที่เปิดหรือถอยทัพ 10.ก่อวินาศกรรม นำโดรนไปซุกซ่อนอยู่ตามเป้าหมายการก่อวินาศกรรม (สนามบิน โรงไฟฟ้า คลังน้ำมัน ฯลฯ) โดยมีการป้อนคำสั่งกำหนดเป้าหมายไว้ล่วงหน้า จากนั้นถึงเวลาเริ่มปฏิบัติจึงกดเปิดการทำงานของโดรนด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อให้โดรนพิฆาตพุ่งสู่เป้าหมายแบบอัตโนมัติ
ตำราดังกล่าวยังเขียนต่อไปว่า สนามรบในยูเครน ณ เพลานี้ มีจำนวนโดรนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หน่วยรบต่างๆต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว การตรึงแนวรบจากที่เคยใช้ทหาร 1 หมวด ได้ถูกลดลงให้เหลือ 1 หมู่ การใช้อาวุธหนักอย่างรถถังหรือยานเกราะจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสถานการณ์จำเป็นจริงๆ เนื่องด้วยยานเกราะ 1 คัน ได้กลายเป็นสิ่งล่อเป้า ดึงดูดโดรนของข้าศึกเข้ามาในพื้นที่มากกว่า 10 ลำ
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของ “คำแนะนำ” ทั่วไป สำหรับการปฏิบัติงานของทหารราบในแนวหน้า โดยสิ่งแรกที่ต้องพึงสำนึกคือการ “พรางตัว” ลดความเด่นชัดที่จะถูกมองเห็นจากทางอากาศ นำตาข่ายพรางมาขึง พรางตัวเองด้วยกิ่งไม้ใบไม้ เก็บข้าวของตามฐานที่มั่นอย่าให้เห็นอาหารการกิน ถุงพลาสติก หรือร่องรอยการขุดดิน ระมัดระวังแสงสะท้อนจากกระจกรถ และหมั่นสำรวจตำแหน่งของข้าศึก
ขณะที่การเคลื่อนตัวควรขยับไปตามซอกเงาของอาคาร พยายามทำตัวให้อยู่นิ่งที่สุด อย่าขยับเขยื้อนตัวแบบกะทันหัน อย่าวิ่งเพราะจะถูกพบเห็นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะถูกพบเห็นได้ง่ายด้วยโดรนที่ติดตั้งกล้องตรวจความร้อน
สิ่งพึงสำนึกลำดับต่อมาคือเรื่องของ “ฐานที่มั่น” พยายามขุดหลุมเพลาะให้มีร่องลึก เพื่อลดการกระจายตัวของสะเก็ดระเบิดที่ถูกหย่อนลงมาจากโดรน ขึงตาข่ายบางๆ (ถักจากเอ็นตกปลาได้ยิ่งดี) เพื่อดักโดรนพิฆาตแบบพุ่งชน ควรมีการวางระเบิดควันห่างจากฐานที่มั่นไป 20-30 เมตร เพื่อจุดชนวนสร้างม่านควันลดทัศนวิสัยของโดรนพิฆาต และสิ่งที่ไม่ควรพลาดคือ หมั่นดูแลรักษาและอย่าลืม “เปิด” เครื่องกวนสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนที่เหลือจากนั้นคือการ “ปฏิบัติตัว” เมื่อตรวจพบความเคลื่อนไหวของโดรนข้าศึก ทหารในแนวหน้ามีหน้าที่สอดส่องอยู่ตลอดเวลา คอยฟังเสียงจากท้องฟ้า แยกแยะให้ออกว่าเสียงไหนคือโดรนสอดแนม (เสียงวี้ค่อยๆ) เสียงไหนคือโดรนพิฆาต (เสียงหึ่งดังแหลม) พร้อมสำนึกไว้ว่า หากพบเห็นโดรนสอดแนม สิ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอนคือโดรนพิฆาต หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่เปิดเผยตำแหน่งให้มากที่สุด และอย่านอนราบกับพื้น
ในช่วงปฏิบัติการรบเชิงรุก ทหารในหน่วยจำเป็นต้องแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจนว่า ใครดูส่วนไหนของท้องฟ้า รักษาระยะห่างระหว่างกัน และคิดเผื่อไว้เสมอว่าหากโดรนบินมาจะใช้อาคารหรือต้นไม้แถวนั้นในการหลบหลีก จำให้ขึ้นใจว่า “หลุมระเบิด” ไม่ใช่ที่ปลอดภัยเมื่อเจอกับโดรน แต่เป็นสุสานของทหารราบ และอย่าพยายามยิงใส่โดรนเพราะโอกาสกระสุนถูกเป้ามีน้อย แถมเราจะกลายเป็นเป้านิ่ง ยกเว้นแต่จะมีใครใช้ปืนลูกซอง
นอกจากนี้ ทหารราบที่เคลื่อนกำลังด้วยยานเกราะ หรือทหารราบที่ทำหน้าที่ลำเลียงเสบียง จำเป็นต้องออกจากรถให้เร็วที่สุดเมื่อถึงที่หมาย และอย่าเกี่ยงกันอย่างเด็ดขาดว่า ใครจะขนอะไรยกอะไร ระบายของให้เร็วที่สุด เพราะเวลาคือศัตรู พลขับควรมองกระจกหลังกับกระจกข้างอยู่เสมอ เพราะนั่นคือทิศทางการโจมตีของโดรน
...
สุดท้ายนี้ หากพบโดรนภายในระยะห่างจากตัวไป 20-30 เมตร อย่าคิดว่าโดรนมองเราไม่เห็น เมื่อถึงจุดนี้โอกาสการรอดชีวิตอยู่ที่ปฏิกิริยาตอบสนอง และทิศทางการขยับตัวที่เดายากล้วนๆ จะโชคดีขึ้นมาหน่อยหากเจอข้าศึกบังคับโดรนที่ชอบ “เล่นกับเหยื่อก่อนฆ่า” เพราะจะทำให้มีโอกาสให้เพื่อนในหน่วยช่วยเหลือ ขว้างปาสิ่งของทำลายโดรนทิ้ง หรือไม่ก็คนบังคับทำพลาดเอง.
วีรพจน์ อินทรพันธ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม