กรกฎาคมปีที่แล้วรัฐบาลไทยจัดงาน Ignite Thailand เปิดตัว “ประเทศไทย : ศูนย์กลางการเงินโลก” จนถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า มิถุนายนปีที่แล้ว สำนักงานบริการทางการเงินของญี่ปุ่น (FSA) ก็ได้ประกาศเปิดตัวโครงการ “เขตพิเศษ ด้านการจัดการการเงินและสินทรัพย์โอซากา” เช่นกัน เพื่อให้ โอซากา เมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองรองจากโตเกียว ก้าวขึ้นมาเป็น “ศูนย์กลางการเงินระดับโลก” (International Financial Center) อีกแห่งหนึ่ง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้ 4 เมืองใหญ่ โตเกียว โอซากา ฮอกไกโด และ ฟูกูโอกะ เป็น ศูนย์กลางการเงินโลก (International Financial Center) ที่มีจุดแข็งและเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน
การประกาศให้ เมืองโอซากา เป็น ศูนย์กลางการเงินโลกแห่งใหม่ เป็นการต่อยอดจากงาน Osaka Expo 2025 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 เมษายน–13 ตุลาคม 2568 ภายใต้แนวคิด Designing the Future for Our Lives “ออกแบบอนาคต เพื่อชีวิตของเรา” ซึ่งจะจัดขึ้นที่ เกาะแห่งความฝัน Yumeshima ใกล้กับยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ
“เว็บไซต์การเงินธนาคาร” ซึ่งทำรายงานเรื่องนี้ ระบุว่า วัตถุประสงค์ของ ศูนย์กลางการเงินโอซากา ต้องการดึงดูดผู้ประกอบการการเงินในประเทศและต่างประเทศ โดยจะมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดใจผู้ประกอบการทางการเงิน ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยสำหรับนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจสตาร์ตอัพ การสนับสนุนการเข้าถึงบริการธนาคารสำหรับชาวต่างชาติ การผ่อนปรนกฎเกณฑ์การลงทุนของบริษัทลูกในกลุ่มธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการระดมทุนให้กับธุรกิจสตาร์ตอัพ และผ่อนปรนเกณฑ์นักลงทุนที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมกองทุนระดับมืออาชีพ เพื่อช่วยให้มีฐานการลงทุนที่กว้างขึ้น โดยเน้นที่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น Green Transformation (GX) และ Fintech เป็นต้น
...
กลยุทธ์การสร้าง เมืองการเงินโลกของโอซากา จะมุ่งเน้น การสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อ สืบสานมรดกต่อจากงาน Osaka Expo 2025 ในการ “ออกแบบอนาคตเพื่อชีวิตของเรา” ปฏิรูปกฎระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และการเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค
เมืองโอซากาได้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมเมืองการเงินโลกโอซากา” ในต้นปี 2564 ปัจจุบันมี 40 องค์กรเข้าร่วม ทั้งภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันของรัฐ คณะกรรมการชุดนี้จะร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมในเมืองโอซากาให้เป็นที่ดึงดูดใจนักลงทุน ผ่านความคิดริเริ่มทางการเงิน อำนวยความสะดวกให้กับช่องทางการระดมทุนที่หลากหลายสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ เป็นศูนย์กลางการเงินที่มีความยืดหยุ่น เพื่อกระตุ้นตลาดการเงินในประเทศ รวมทั้ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไลฟ์สไตล์ เพื่อดึงดูดใจผู้อยู่อาศัยต่างชาติ โดยวางตำแหน่งให้เป็น “ผู้นำด้านการเงิน” ที่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการตลาดที่เป็นนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการริเริ่มทางการเงินอย่างยั่งยืน
ผมก็เก็บเอาแนวคิดการสร้าง “เมืองศูนย์กลางการเงินโลก” ของ โอซากา ที่ได้ทำไปแล้ว อย่างเป็นรูปธรรมมาเล่าสู่กันฟัง หวังว่ารัฐบาลจะได้ไอเดียไป Ignite กันอีกรอบ เพื่อสร้าง ประเทศไทย ให้เป็น “ศูนย์กลางการเงินโลก” อย่างเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้
จุดเด่นของ “ศูนย์กลางการเงินโอซากา” ก็คือ การจัดตั้ง ศูนย์สนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศแบบครบวงจร ซึ่งให้บริการทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาใบอนุญาตการเงิน โอซากายังให้เงินอุดหนุนการจัดตั้งสำนักงานใหม่ในโอซากาด้วย และ ลดภาษีที่อยู่อาศัยและภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 10 ปี จะเป็น Financial Hub ทั้งที มันต้องทำให้ถึงขนาดนี้ครับ ไม่ใช่ประกาศแล้วทุกอย่างจะลอยมา.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม