• อุบัติเหตุเครื่องบินเชจูแอร์ ที่เกิดขึ้นที่ ท่าอากาศยานนานาชาติมูอันถือเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในปีนี้ และเป็นเหตุการณ์อุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในเกาหลีใต้ในรอบหลายทศวรรษ โดยมาประจวบเหมาะกับช่วงที่เกาหลีใต้กำลังเผชิญวิกฤติทางการเมืองครั้งใหญ่พอดี
  • ปีที่ผ่านมานับว่ามีอุบัติเหตุทางการบินที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้งทั่วโลก ทั้งเหตุเครื่องบินชนกันและเครื่องบินตก ยังไม่นับรวมเหตุการณ์อุบัติเหตุทางอากาศของเครื่องบินเล็กอีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นแทบจะรายวัน
  • นอกจากความคืบหน้าของสาเหตุของอุบัติภัยร้ายแรงครั้งนี้แล้ว ประชาชนทั่วโลกต่างให้ความสนใจเรื่องของอนาคตทางการเมืองของนายยุน ซอก ยอล อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ไม่แพ้กัน ซึ่งต้องจับตาดูปีนี้ว่าทิศทางการเมืองของประเทศเกาหลีใต้จะเป็นอย่างไรต่อไป

อุบัติเหตุเครื่องบินของ เชจูแอร์ ที่เกิดขึ้นที่ ท่าอากาศยานนานาชาติมูอัน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2024 ถือเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในปีนี้ และเป็นเหตุการณ์อุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในเกาหลีใต้ในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 179 คน นับเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญในวงการการบินทั่วโลกในปี 2024 เครื่องบินลำดังกล่าวประสบปัญหาหลังจากที่พยายามลงจอดไม่สำเร็จ ได้รับการแจ้งเตือนจากระบบควบคุมการจราจรทางอากาศเกี่ยวกับการชนกับนก ก่อนที่จะไถลออกนอกรันเวย์และพุ่งชนรั้วคอนกรีตจนเกิดไฟไหม้ มีเพียงลูกเรือ 2คน ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้ หลังจากถูกช่วยเหลือออกมาจากส่วนท้ายของเครื่องบิน

...

นอกจากอุบัติเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้แล้ว ในปี 2024 ที่ผ่านมา ยังเกิดอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงอีกหลายเหตุการณ์ดังนี้

2 มกราคม: เครื่องบินของเจ้าหน้าที่ชายฝั่งญี่ปุ่นชนกับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่บนรันเวย์ในโตเกียว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คนจากเครื่องบินชายฝั่งญี่ปุ่น แต่ผู้โดยสาร 379 คนบนเครื่องบินของสายการบินญี่ปุ่นสามารถอพยพออกมาได้ก่อนที่เครื่องบินจะถูกไฟไหม้

24 กรกฎาคม: เครื่องบินของสายการบินซอร์ยาในเนปาลประสบอุบัติเหตุหลังจากออกจากกรุงกาฐมาณฑุ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 18 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของสายการบินหรือช่างเทคนิค แต่หนึ่งในนักบินรอดชีวิต

11 สิงหาคม: เครื่องบินขนาดเล็กของสายการบินบราซิล Voepass ตก ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 62 คน โดยรายงานเบื้องต้นระบุว่าเครื่องบินมีการสะสมของน้ำแข็งบนปีก ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณของความผิดปกติในระบบป้องกันน้ำแข็ง

22 ธันวาคม: เครื่องบินเล็กตกในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตที่อยู่อาศัยของเมืองในบราซิล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน สาเหตุของอุบัติเหตุยังไม่ชัดเจนในขณะนั้น

25 ธันวาคม: เครื่องบินของสายการบินอาเซอร์ไบจานประสบอุบัติเหตุตกในคาซัคสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 39 คน โดยมีผู้รอดชีวิต 29 คน ซึ่งประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจานกล่าวว่าเครื่องบินถูกยิงตกโดยไม่ตั้งใจจากรัสเซีย แม้ว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียจะออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์นี้ แต่ก็ไม่ได้ยอมรับว่ารัสเซียเป็นผู้ยิงเครื่องบินตกแต่อย่างใด

ทั้งนี้ อุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ยังคงเป็นเหตุการณ์ เครื่องบินโบอิ้ง 747 สองลำชนกันที่เกาะเตเนริฟในสเปนในปี 1977 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 583 คน นอกจากนี้ การโจมตีในวันที่ 11 กันยายน 2001 ที่มีการจี้เครื่องบินโดยผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์และพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์กและเพนตากอนในวอชิงตัน ดี.ซี. รวมถึงเครื่องบินอีกลำที่ตกในรัฐเพนซิลเวเนีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน ก็นับเป็นโศกนาฎกรรมทางการบินครั้งรุนแรงที่ทุกคนไม่มีวันลืมเลือน

นอกจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินเชจูแอร์ จะเป็นอุบัติเหตุทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดของปีของเกาหลีใต้แล้ว อุบัติเหตุครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แย่ที่สุดสำหรับเกาหลีใต้ด้วย เพราะเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเมือง เนื่องจากในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เกาหลีใต้ต้องเปลี่ยนประธานาธิบดีคนใหม่ไปแล้วถึงสามคน

โดยล่าสุด ศาลเกาหลีใต้อนุมัติหมายจับฃประธานาธิบดียุน ซอก ยอล จากกรณีการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. แล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการออกหมายจับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ยังอยู่ในตำแหน่ง โดย CIO ยื่นคำร้องขอหมายจับหลังจากที่นายยุนเพิกเฉยต่อหมายเรียกทั้ง 3 ครั้ง เพื่อเข้ารับการสอบสวนกรณีการประกาศกฎอัยการศึกที่ใช้เวลาสั้น ๆ เจ้าหน้าที่ CIO คาดว่าจะไปตรวจค้นที่บ้านพักของยุนในเร็วๆ นี้เพื่อดำเนินการตามหมายจับซึ่งมีอายุ 1 สัปดาห์

...

ซึ่งหลังจากที่นายยุนต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ นาย ฮัน ด็อก ซู นายกรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีรักษาการ แต่เขาก็เพิ่งถูกถอดถอนจากตำแหน่งในวันที่ 27 ธันวาคม ทำให้ ชเว ซังมอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง กลายเป็นประธานาธิบดีรักษาการคนใหม่

จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อมีเหตุโศกนาฏกรรมความสูญเสียรุนแรง ก็มักจะมีการโยนความผิดไปยังรัฐบาล เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบเสมอ เหมือนกับกรณีของเรือเซวอลล่มที่ทำให้นางพักกึนฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ถูกถอดถอน และกัปตันเรือถูกจำคุก

แต่เนื่องจากเกาหลีใต้ยังอยู่ในวิกฤติการเมืองจึงยากที่จะประเมินผลกระทบจากอุบัติเหตุเครื่องบินเชจูได้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ อาจจะส่งผลให้ ชเว ซังมอก ประธานาธิบดีรักษาการมีอำนาจอยู่ในตำแหน่งได้นานขึ้นอีกหน่อย เนื่องจากฝ่ายค้านอาจจะไม่กล้าที่จะถอดถอนเขาในช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ระดับชาติ แต่อนาคตทางการเมืองของนายยุน ซอก ยอลจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและติดตามไม่น้อยไปกว่าอุบัติเหตุเครื่องบินเชจูในครั้งนี้.

ที่มา : channelnewsasiaUSnews

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ เชจูแอร์